“ทวี” ยำใหญ่งบ 66 อมเงินไว้ส่วนกลาง ซุกหนี้ 12 ล้านล้าน

“ทวี” สับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 อมงบส่วนใหญ่ไว้ที่ส่วนกลาง ขณะที่ 76 จังหวัดได้รับเพียง 26 เปอร์เซนต์ แฉมีหนี้สาธารณะซุกไว้อีก รวมแล้วกว่า 12 ล้านล้านบาท หนี้เกินจีดีพี ร้อยละ 70 ปูดสารพัดเหลื่อมล้ำ ทั้งประชาชนกับข้าราชการ ไม่เว้นเด็กในระบบการศึกษา ชี้ชัดคนไทยไม่ได้ประโยชน์ ไม่ต่างจาก 10 ปีงบประมาณที่จัดงบมา
วันอังคารที่ 31 พ.ค.65 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระแรก ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ปรากฏว่าหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว บรรดา ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้ทยอยกันสลับขึ้นอภิปราย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายว่า นายกฯ จัดงบประมาณมาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 ตั้งแต่ปี 2557 ถ้าพูดถึงการใช้เงิน ท่านยึดอำนาจมาในปี 57 และงบปี 56 ก็ยังไม่ได้ใช้ คือท่านได้ใช้งบมาถึง 11 ปีงบประมาณ ท่านนายกฯ ได้ใช้งบไป 31 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมาก มากกว่าจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เกือบ 2 เท่า
สิ่งที่นายกฯ อ่านคำแถลงนโยบายเรื่องจัดงบประมาณ มีหลายประเด็นที่ตนเห็นตรงกันข้าม
ประการที่ 1 นายกฯ จัดงบโดยไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน ประการที่ 2 ไม่ได้อยู่บนฐานความต้องการของประชาชน ประการที่ 3 ไม่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของประชาชน ประการที่ 4 ไม่กระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม ประการที่ 5 จัดงบไม่คุ้มค่า ประการที่ 6 ท่านบอกไม่ซ้ำซ้อน แต่ผมบอกว่าซ้ำซ้อน ประการที่ 7 ไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลหรือสัมฤทธิภาพกับประชาชน ที่พูดมาทั้งหมดจะฉายให้เห็นในเวลาสั้นๆ
“ท่านนายกฯ ได้จัดงบที่เป็นอันตราย ประการแรกคือความอยุติธรรมกับประชาชน กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ 2,490,000 ล้านบาท แต่ได้เอางบไปใช้เป็นรายจ่ายประจำ 2,396,942 ล้านบาท มีตัวเลขต่างกัน 9 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เอาไปใช้เป็นงบบุคลากรภาครัฐรวมอยู่ในรายจ่ายประจำด้วย แต่ทุกปีที่ผ่านมาการประมาณการจัดเก็บงบประมาณจะต่ำกว่าเป้าไปประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้นรายได้ที่จะได้ในปี 66 เราก็สันนิษฐานจากข้อมูลเก่าว่าจะน้อยกว่ารายจ่ายประจำ พอน้อยกว่ารายจ่ายประจำ คือประชาชนทั้งประเทศเสียภาษี มาเป็นทาสท่านนายกฯ เพราะนายกฯ เป็นข้าราชการของรัฐที่ใช้งบประมาณ ไม่มีเงินสักสลึงเดียวเลยที่จะกลับไปสู่ประชาชน เพราะเงินจำนวนทั้งหมดนายกฯ เอาไปเป็นค่ารายจ่ายประจำ แต่ท่านนายกฯ จะพูดว่าในรายจ่ายประจำจะมีสวัสดิการของประชาชนอยู่ด้วย
ผมอยากจะชี้ให้เห็นสักนิด วันนี้ถ้าเรามาดูการจัดงบ ผมอาจจะเรียกว่าเป็นการ ‘อมงบไว้ที่ส่วนกลาง’ นี่คือตัวเลขปี 66 และย้อนหลังไปวิเคราะห์ก็เหมือนกัน งบที่มาอยู่ใน กทม. ประมาณ 75 เปอร์เซนต์ ไปอยู่ในงบกลางของนายก อีก 17 เปอร์เซนต์ ซึ่งอีกสักครู่ผมจะพูดว่าเป็นการใช้เหมือนตามอำเภอใจ ส่วนงบประมาณของ 76 จังหวัด มีเพียงแค่ 26 เปอร์เซนต์ และต่างประเทศ 0.1 เปอร์เซนต์
แต่ปรากฎว่าใน 26 เปอร์เซนต์ของงบ 76 จังหวัด มีประมาณ 2 แสนกว่าล้าน เอานโยบายของนายกฯ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ หรือนโยบายสำคัญๆ ผลักไปให้ท้องถิ่นจ่ายเงินแทน ซึ่งท้องถิ่นไม่สามารถทำอะไรได้ นี่คือความอยุติธรรมระดับหนึ่ง สรุปก็คือเงิน 2.3 ล้านล้านบาท หรือ 74 เปอร์เซนต์ของปี 66 มาอยู่ในกรุงเทพฯ คนอีก 60 ล้านคนใน 76 จังหวัด ได้เพียง 0.8 เปอร์เซนต์ ประชาชนในความหมายของนายกฯ ก็คือ คนกรุงเทพฯ แต่คนกรุงเทพฯยังไร้บ้านอยู่ ประชาชนในความหมายของนายกฯ ก็คือนายทุน คือตัวข้าราชการ
อยากจะให้ดูประเทศญี่ปุ่น เขาจัดงบ 70 เปอร์เซนต์ไปอยู่ท้องถิ่น และ 30 เปอร์เซนต์มาอยู่ส่วนกลาง แต่ของเรานี่กลับกัน เวลาเราจะไปเปรียบเทียบจีดีพี บอกว่าญี่ปุ่นกู้มาเยอะ ท่านไม่ทราบหรือว่าญี่ปุ่นเขาออกไปค้าขายทั่วโลก เขามีรายได้ เขาจะกู้เกินจีดีพีเท่าไรเงินเขาก็มา และอัตราการเสียภาษีเขามากกว่าไทย ของเรา 17 เปอร์เซนต์ ของเขา 30 เปอร์เซนต์ ซึ่งเราไม่ควรจะเอามาเปรียบเทียบ
สิ่งที่เป็นความอยุติธรรมของประชาชน ผมไม่ได้รังเกียจข้าราชการ ผมเคยเป็นข้าราชการ ท่านทราบไหมว่าบำนาญของข้าราชการตอนนายกฯ ยึดอำนาจมีเพียงแสนล้านนิดๆ วันนี้ผ่านมานายกฯ จัดมา 322,790 ล้านบาท แต่บำนาญที่เป็นของประชาชน 12 ล้านคน ท่านนายกให้ 71,407 ล้านบาท คน 12 ล้านคนกับคนไม่ถึงล้านคน มันมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างไร แล้วความเหลื่อมล้ำนี้เกิดจากท่านนายกฯ
ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเราเขียนไว้ดี แต่ท่านนายกฯ ชิงออก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง คือรัฐธรรมนูญเขาเขียนว่า รัฐสภา องค์กรอิสระ และศาล ให้มีงบประมาณพอเพียง แต่ท่านนายกฯ ไปซ่อนใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 วงเล็บ 2 เพราะว่าตอนนั้นท่านยึดอำนาจ ท่านไม่มีสภา ท่านก็ไปเขียนว่าบุคลากรของรัฐต้องมีงบประมาณและสวัสดิการอย่างเพียงพอ ท่านไม่มีประชาชนอยู่ในหัวใจเลย ทำไมต้องมาเขียนวรรคนี้ คือเขาควรจะมีสิทธิตามที่เป็นข้าราชการ ดังนั้นท่านจึงใช้ข้าราชการหรือคนรอบข้างของท่านไปกดทับประชาชน นี่คือตัวอย่างของสวัสดิการ
พรรคประชาชาติเห็นว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน มีวิธีเดียวก็คือ ต้องสิทธิเสมอกัน หรือสวัสดิการถ้วนหน้า จึงได้เสนอ ร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ หรือ บำนาญ 3,000 บาท หรือเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ท่านนายกฯ ปัดตก เห็นประชาชนไม่มีค่า นี่คือตัวอย่าง
ส่วนการจัดงบให้เด็ก ในงบประมาณปี 66 ครั้งนี้ เรามีเด็ก 4 ล้านกว่าคน ท่านก็จัดมาให้ 2 ล้านกว่าคน หรือครึ่งเดียว เด็ก 0-6 ขวบ แม้แต่เด็กแรกเกิดยังเหลื่อมล้ำ ท่านไม่เคยคำนึงถึง ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ ที่ทุกคนมีสิทธิเสมอกัน ท่านคำนึงถึงการสงเคราะห์ ทั้งที่ท่านก็รับภาษีของประชาชน การสงเคราะห์คือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนต้องมีสิทธิเสมอกัน การมีสิทธิเสมอกันท่านไม่ต้องไปสงสารเขา นี่คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือตัวอย่าง และเวลาหลายครั้งที่พูดในที่ประชุม ท่านรองนายกฯ ที่คุมกระทรวงพาณิชย์ ก็นั่งเป็นบอร์ด บอกว่าเด็ก 0-6 ขวบต้องได้ถ้วนหน้า การจัดงบปีที่แล้วก็มีการเรียกร้อง ปีนี้ก็ไม่ให้เด็ก นี่คือความเหลื่อมล้ำ
เมื่อเราเก็บเงินทั้งหมดมาเป็นรายจ่ายประจำ แล้วจัดเป็นสวัสดิการ แต่ก็สวัสดิการแบบเหลื่อมล้ำ ที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดคือ รัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหนี้สาธารณะที่เรายังพูดไม่หมด ทุกคนก็บอกว่าหนี้สาธารณะตอนนี้มี 9-10 ล้านล้านบาท แต่ผมได้รวบรวมหนี้สาธารณะในงบประมาณอันนี้ พบว่ามีมากถึง 12 ล้านล้านบาท
เหตุที่ 12 ล้านล้านบาท เพราะท่านนายกฯ ไปมีนโยบายที่กันเหลื่อมปี คือมีหนี้ประมาณ 1 ล้านล้านกว่าบาท มีหนี้ประกันสังคมอีก 6 แสนล้านบาท และมีหนี้ไปซ่อนไว้ที่ต้องชำระ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) อีก คือถ้าเอาตัวเลขมารวมกัน การจัดงบประมาณครั้งนี้ หนี้ต่อจีดีพี เกินกว่า 70 เปอร์เซนต์ การที่ท่านมีงบผูกพันข้ามปี คือ การฮั้วการประมูลในอนาคต ซึ่งปีนี้ก็ยังมีจำนวนมากถึง 8 หมื่นกว่าล้านบาท อันนี้เป็นตัวอย่าง
สิ่งที่นายกฯ อยุติธรรมที่สุดอีกเรื่อง ก็คือเรื่องการศึกษา ท่านไปประกาศว่า รัฐธรรมนูญต้องปฏิรูปการศึกษา มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ท่านเคยเหลียวดูไหม กองทุนฯ เอาเงินไป 6 พันกว่าล้านบาท แล้วไปช่วยเด็กประมาณล้านกว่าคน ไปกีดกัน โดยออกหลักเกณฑ์ว่าเด็กที่จะได้รับ ต้องเป็นเด็กในโรงเรียนของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) โรงเรียนของ อบต. โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แต่โรงเรียนเอกชน รวมถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้ เด็กอีก 4 แสนคน ไม่มีสิทธิได้รับ นี่คือความอยุติธรรมเรื่องการศึกษา
ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ในรัฐธรรมนูญมีบัญญัติว่า คนยากไร้จะต้องมีทุนให้ ท่านนายกฯ ไปแก้ พ.ร.บ.กยศ. (พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ ไปให้มีดอกเบี้ยจากเดิมเท่ากับเงินฝากธนาคารออมสิน คือ สลึงเดียว กลายมาเป็นร้อยละ 7.5 แล้วก็มีเบี้ยปรับอีก 18 เปอร์เซนต์ ท่านทราบไหมว่า มีรายการฟ้องที่บังคับคดีมากกว่าแสนราย พบว่าไปคิดดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับกับเงินต้น 75 เปอร์เซนต์
ข้อมูลนี้เพิ่งเสนอมาโดย กยศ. เสนอต่อกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย แล้ววันนี้นายกฯ ยังไม่มีกองทุนสำหรับผู้ยากไร้เลย เพราะท่านมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เงินทั้งหมดก็ไปใช้กับเรียนฟรี 15 ปี ส่วนผู้ยากไร้ท่านไม่เคยคำนึงเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรายละเอียดจะไปพูดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการทุจริต วันนี้งบประมาณนี้ถ้าปล่อยไปก็เหมือน10 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญครั้งนี้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์เลย ถ้าจัดใหม่เราสามารถทำได้ดีกว่านี้”