(11 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ว่า พรรคประชาชาติ นำโดย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , นายมนตรี บุญจรัส กรรมการบริหาร พรรคประชาชาติ และ รองโฆษก พรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย และ นายทวีศักดิ์ ปิ ผู้ช่วยผู้ดำเนินงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำตัว พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ในฐานะผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญคนจน ชายแดนใต้ ร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็นเวทีสัมมนาที่มีชีวิต “มนต์รักรัฐธรรมนูญคนจน : เมื่อหิ่งห้อยจะพรายแสง” เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตคนจน “จนสิทธิ จนอำนาจ จนโอกาส และถูกทำให้จน” ผ่านการเล่าด้วยภาพถ่าย งานศิลปะ ดนตรี กวี อาหาร ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ฯลฯ อันเป็นที่มาและมีเนื้อหาที่เสนอไว้ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
สำหรับเวทีสัมมนาที่มีชีวิต นำเสนอปัญหา ข้อเสนอ และข้อเรียกร้อง ของเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจนต่อสาธารณะชนและพรรคการเมือง, นิทรรศการรณรงค์ จากเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน อาทิ กำแพงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนจนจากมด วนิดา ถึงราษฎร/กำแพงประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญคนจน, ครัวสี่ภาค ตลาดคนจน จากเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน และ เวทีวัฒนธรรมร่วมสมัย ว่าด้วย“ประชาธิปไตยที่กินได้ รัฐธรรมนูญที่เห็นหัวคนจน” จัดโดยเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน(ngo) เครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชน ในนามเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน ณ บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร
นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงทัศนะว่า “ตนเป็นคนนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีการศึกษาต่ำ รายได้ต่ำ แต่ในคราวรัฐบาลเผด็จการทำประชามติ ปี 2560 คนจังหวัดชายแดนใต้ 75% ไม่รับ ขณะที่คนกรุงเทพฯ ซึ่งมีเงิน มีการศึกษา กลับรับร่างรัฐธรรมนูญกันจำนวนมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่ที่สุด พรรคประชาชาติจะไม่แก้รายมาตรา แต่จะขอยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ในสมัยที่ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานรัฐสภา และเป็นแกนนำยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ถือว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตตน แต่ถูกฉีกในปี 2549 หลังจากนั้นมีแต่รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ดังนั้น ควรยกเลิกให้หมดทั้งฉบับ และรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทุกจังหวัดทุกสาขาวิชาชีพ ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
“ใน 11 ข้อ 53 ประเด็น ที่เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจนเสนอมา ถือว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ แต่บางเรื่องควรให้เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก็อยู่ได้นาน แต่ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญอยู่ไม่นาน เพราะหากมีผู้ไม่พอใจเมื่อไหร่ ก็ยึดอำนาจทันที พ.ร.บ.จึงมีความมั่นคงกว่ารัฐธรรมนูญ” นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ กล่าว
#ประชาชนประชาชาติ