พรรคประชาชาติ

ชาติของประชาชน บนฐานสังคมพหุวัฒนธรรม

พรรคประชาชาติ ส่ง “ธนัญญรัชช์ เศรษฐาธิรัชฎ์” ร่วมเวทีผู้นำฝ่ายค้านเพื่อประชาชน “พลิกฟื้นประมงไทย คืนความยิ่งใหญ่สู่น่านน้ำ” จังหวัดเพชรบุรี

(วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ห้องเพชรบุรี แกรนด์ ฮอลล์ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี ว่า นางสาวธนัญญรัชช์ เศรษฐาธิรัชฎ์ คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ด้านสังคม เด็กและเยาวชน การศึกษา สตรี ผู้สูงอายุ ศาสนา สาธารณสุข ท่องเที่ยวและกีฬา พรรคประชาชาติ ในฐานะ ตัวแทน พรรคประชาชาติ เดินทางมาร่วม โครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ประจำปีงบประมาณ 2566 “พลิกฟื้นประมงไทย คืนความยิ่งใหญ่สู่น่านน้ำ” โดยมีแกนนำและตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมอย่างคึกคัก อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

นางสาวธนัญญรัชช์ เศรษฐาธิรัชฎ์ เปิดเผยว่า ส่วนตัว มองว่า ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมาโดยตลอด เพื่อช่วยเหลือชาวประมง เมื่อเจอข้อบังคับของ IUU Fishing ทำให้เรือประมงนอกน่านน้ำทุกลำต้องกลับเข้าฝั่งไทย จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐเร่งหาแนวทางแก้ไข จึงต้องการให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ หันกลับมาหาแนวทางที่ชัดเจนต่อไป รวมถึงควรส่งเสริมและพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคด้วย เช่น การส่งออกอาหารทะเล ธุรกิจเช่แข็ง สินค้าแปรรูปอื่นๆ และ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานน้ำแข็ง ห้องเย็น สถานีน้ำมัน สะพานปลา ตลาดปลา แพปลา และ ท่าเทียบเรือ ที่บางแห่งประสบปัญหาต้องปิดตัวลง หลายแห่งต้องลดการจ้างแรงงาน

นางสาวธนัญญรัชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชน และพื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นของกรมเจ้าท่า ยังไม่สามารถใช้ไฟตามบ้านได้ จึงต้องใช้ไฟฟ้ากลาง มีราคาค่าไฟแพงกว่าไฟทั่วไปถึง 3 เท่า จึงเล็งเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมเจ้าท่า และ การไฟฟ้าต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน รวมถึง ปัญหาการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านมีปัญหาจากกฏหมายมาก เช่น จำกัดเขตการทำประมง หากออกนอกเขตจะเสียค่าปรับแพงมาก และ จำกัดเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งเครื่องมือทำมาหากินบางฤดูต้องใช้อย่างหนึ่ง และ อีกฤดูต้องใช้อีกอย่างหนึ่ง และต้องถูกเรียกให้เสียค่าปรับค่อนข้างสูง หรือกระทั่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อาทิ ปัญหาน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยในทะเล ทำให้สูญเสียรายได้และภาระหนี้สินจากการลงทุนซื้อพันธุ์ลูกหอยและหอยตายก่อนระยะเวลาการเก็บผลผลิต”

“ขอยกแนวทางการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในชุมชนบางตะบูน ในมิติด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรผู้ทำประมงชายฝั่ง โดยเน้นให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที รวมถึงประเด็นการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์การประมงนอกน่านน้ำไทย และ พัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน จึงอยากฝากให้ผู้ที่เกี่ยงข้องในทุกภาคส่วน เข้ามาหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาหาแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาประมงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ต่อไป” นางสาวธนัญญรัชช์ กล่าว

#ประชาชนประชาชาติ