พรรคประชาชาติ

ชาติของประชาชน บนฐานสังคมพหุวัฒนธรรม

ข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑

ข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑

          ข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยที่ประชุมจัดตั้งพรรคประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์กำหนดข้อบังคับพรรคฉบับนี้เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานกิจการทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

บทนำ

          พรรคประชาชาติเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ พรรคประชาชาติยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขพรรคมีจุดเริ่มต้นจากบุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันที่เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งการบริหารและกำหนดมาตรการดำเนินการพรรคมีอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกโดยรวมให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพและยึดหลักนิติธรรมในการปฏิบัติในหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาและความต้องการของประชาชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตศาสนาวัฒนธรรม   อัตลักษณ์ชาติพันธุ์และวิถีชีวิตดั่งเดิมของการอยู่ร่วมกันที่เป็นพหุวัฒนธรรมตามบริบทในพื้นที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสร้างความสมดุลการพัฒนาทางการเมืองสังคมเศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถของประเทศประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรมและสันติสุข

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑”

ข้อ ๒ ให้ใช้ข้อบังคับนี้นับตั้งแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

“พรรค”หมายความว่า พรรคประชาชาติ

“ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับพรรคประชาชาติ

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกพรรคประชาชาติ

“คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ

“กรรมการบริหาร” หมายความว่า กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ

“สาขาพรรค” หมายความว่า สาขาพรรคประชาชาติ

“ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด” หมายความว่า ตัวแทนพรรคประชาชาติประจำจังหวัด

-๒-

“คณะกรรมการสาขาพรรค” หมายความว่า คณะกรรมการสาขาพรรคประชาชาติ

“กรรมการสาขาพรรค” หมายความว่า กรรมการสาขาพรรคประชาชาติ

“สำนักงานตัวแทนพรรคประจำจังหวัด” หมายความว่า สำนักงานตัวแทนพรรคประชาชาติประจำจังหวัด

“นายทะเบียนสมาชิกพรรค” หมายความว่า นายทะเบียนสมาชิกพรรคประชาชาติ

“นายทะเบียนสมาชิกสาขา” หมายความว่า นายทะเบียนสมาชิกสาขาพรรคประชาชาติ

“นายทะเบียนพรรคการเมือง” หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๑

บททั่วไป

ข้อ ๔ ชื่อพรรคเครื่องหมายพรรคและคำอธิบาย

(๑) ชื่อพรรคประชาชาติชื่อย่อ ปช. เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Prachachat  Party  ชื่อย่อ PCC.

ประชาชาติ อ่านว่า ประ-ชา-ชาด

ความหมายของคำว่า ประชาชาติ

ประชา หมายถึง หมู่คนกลุ่มคนหลากหลายมวลชนประชาชน

ชาติ หมายถึง ชีวิตหลายชีวิตเผ่าพันธุ์วัฒนธรรมประเทศ

พรรคประชาชาติ หมายถึง พรรคการเมืองที่ประกอบด้วยพลเมืองของประเทศที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์วัฒนธรรม

(๒) ภาพเครื่องหมายพรรค(๓) ความหมายคำอธิบายเครื่องหมายพรรค

หลากหลายสีและดวงดาวสัญลักษณ์คุณค่าความดีงามและเก่งกล้าทุกชาติพันธุ์

ร่วมสร้างสังคมสันติสุข

ข้อ ๕ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ อาคารนีนาแมนชั่นเลขที่ ๖๘๓/๓ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๙๕/๒ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๗๐๐

-๓-

 

หมวด ๒

คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง

ข้อ ๖ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาชาติ 

(๑) พรรคประชาชาติ มีเป้าประสงค์เพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นพรรคการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ที่สมาชิกพรรคมาจากหลากหลายอาชีพ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และถิ่นกำเนิด ร่วมกันพัฒนาการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย      ทั้งในฐานะประชาชนและพลเมืองของโลก

(๒) พรรคประชาชาติเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จึงต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ประชาชนและองค์กรท้องถิ่น โดยรัฐเป็นผู้กระจายความสุขและผลประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างสมดุล 

(๓) พรรคประชาชาติ เชื่อว่าประโยชน์สูงสุดของประชาชนและความมั่นคงของประเทศเป็นสิ่งเดียวกัน จึงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน แก้ไขปัญหาความยากจน ขจัดการผูกขาดและความเหลื่อมล้ำทั้งด้านสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ตลอดจนลดปัจจัยเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเสริมสร้างระบบสวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชน

(๔) พรรคประชาชาติ เชื่อว่าการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม การกดขี่ การกระทำทุจริต และความขัดแย้งในสังคมต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยและความยุติธรรมบนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางสันติวิธี โดยรัฐต้องมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม รวมทั้งต้องไม่ใช้วิธีการแก้ไขโดยใช้กำลังหรืออำนาจเผด็จการที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย หรือ กระทำการใดๆ ให้ประชาชนหวาดกลัวและจำยอม

(๕) พรรคประชาชาติ เชื่อว่าความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา จารีตประเพณี และความคิด เป็นลักษณะทั่วไปของสังคมพหุวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และเกื้อกูลกัน พรรคประชาชาติจึงมุ่งขจัดการครอบงำ หรือเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรมโดยไม่เป็นธรรม  

(๖) พรรคประชาชาติ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและมีศักยภาพ มนุษย์จึงเป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทั่วถึง และมีอิสระ เพื่อจะได้เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศและสังคมโลก

(๗) พรรคประชาชาติ เชื่อว่ามนุษย์มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึง การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น เคารพในกติกาที่ร่วมกันสร้าง และทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม

(๘) พรรคประชาชาติ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นปรากฏการณ์ปกติของสังคม มนุษย์จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ การศึกษาวิจัย และการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่ความเจริญผาสุกของประชาชาติ

(๙) พรรคประชาชาติ เชื่อว่าประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงมุ่งที่จะส่งเสริมและแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาค อนุภูมิภาค และประชาคมโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และการเมืองเพื่อสร้างความเข็มแข็งของพหุวัฒนธรรมในบริบทโลก

หมวด ๓

นโยบายของพรรค

ข้อ ๗ นโยบายของพรรคประชาชาติ มีดังนี้

พรรคประชาชาติให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสให้สมาชิกร่วมกำหนดนโยบาย พัฒนาการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดสรรผู้สมัครรับ

-๔-

เลือกตั้งในระบบต่างๆ ตลอดจนการกำหนดมาตรการและกลไกที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเพื่อให้มี          การดำเนินการตามนโยบาย รวมถึง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลและชุมชน โดยมีนโยบาย ดังนี้  

(๑)นโยบายพื้นฐาน

          ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตย รวมถึง อำนวยการให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เป็นไปด้วยความยุติธรรม เสมอภาค สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

(๒) นโยบายเฉพาะของพรรค

          ส่งเสริม “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่เคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ถิ่นกำเนิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ อันจะนำไปสู่ความเป็น  “ประชาชาติ”          ที่ชาติคือประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นพลเมืองของประเทศที่อยู่ร่วมกันอย่างเสมอหน้าและสันติ มีความเคารพ รวมถึง เอื้ออาทรต่อกันภายใต้การรับรองโดยกฎหมาย อีกทั้ง มุ่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามหลักนิติธรรม ส่งเสริมแนวทางสันติวิธี กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ยุติธรรมทางเลือก ตลอดจนการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุต่างๆ ในทุกด้าน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพใน  “สังคมพหุวัฒนธรรม” 

(๓) นโยบายรวม

(๓.๑) ด้านการบริหารและการปกครอง 

          มุ่งเน้นการกระจายอำนาจหน่วยราชการจากส่วนกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ หรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลาย โดยใช้ฐานของท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในการตอบสนองความความต้องการของประชาชน แก้ไขปัญหา และขจัดความเหลื่อมล้ำทางด้านสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การวางแผน การตัดสินใจ และการพัฒนา ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ สำหรับท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่นั้น โดยการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และ             มีเป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

          กรณีเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ภูเก็ต จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ จะส่งเสริมให้มีการปกครองในรูปแบบพิเศษตามหลักแห่งการปกครองตนเองที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ กระชับและคล่องตัวในการให้บริการสาธารณะและตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ส่วนกรุงเทพมหานคร จะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารตั้งแต่ระดับเขตจนถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แก้ปัญหาการจราจร กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล รวมถึงทบทวนและย้ายหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐออกจากศูนย์กลางเมืองเพื่อลดความแออัดและพัฒนารูปแบบตลอดจนโครงสร้างของเมืองและบริการสาธารณะสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) รวมถึง และปรับโครงสร้างทางการบริหารที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

          ปฏิรูประบบการจัดทำงบประมาณแผ่นดินให้มีความสมดุลกับการจัดเก็บรายได้และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยจัดตั้งสถาบัน

-๕-

          อิสระในสังกัดสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ ติดตามผลระบบงบประมาณแผ่นดิน และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำงบประมาณทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบภาษีอากร อาทิ จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ครอบคลุมรายได้จากทรัพย์สินมรดกและทรัพย์สินทุกประเภทอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลจะมีการปฏิรูปหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจของเจ้าพนักงานในการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

          ขจัดและป้องกันการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ ปรับโครงสร้างและปฏิรูประบบราชการด้วยการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้าราชการ บุคลากรของรัฐ และองค์กรต่างๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมาย และสอดคล้องกับการพัฒนา โดยต้องลดขนาดกำลังคน เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ให้สามารถตรวจสอบได้ในวงกว้างและเชื่อมโยงกับทุกฝ่าย รวมถึงต้องถ่ายโอนบางภารกิจของภาครัฐให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมดำเนินการแทน พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายความมั่นคงภายในให้มีความสมดุลกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง      โดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนเป็นหลัก 

          ส่งเสริมความยุติธรรมในอาชีพข้าราชการทุกประเภทตามหลักธรรมาภิบาล  รวมถึง ให้คัดเลือก สรรหา หรือเลือกตั้งจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ หรือมีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศหรือตำแหน่งตัวแทนของประเทศ

(๓.๒) ด้านการต่างประเทศ

          ส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนปฏิบัติตามสนธิสัญญา อนุสัญญา และความตกลงว่าด้วยเรื่องต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ส่งเสริมการค้า การลงทุน สังคม การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และแรงงานกับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับอาเซียน พร้อมกับให้ความคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจ        ให้ไทยได้รับการยอมรับ มีเกียรติและศักดิ์ศรีในสายตานานาชาติ

          เน้นการสร้างความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน เช่น เขตวัฒนธรรมมลายู ซึ่งประกอบด้วยชายแดนภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และจีน ตลอดจนเร่งฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีของไทยกับบางประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติ เช่น ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

(๓.๓) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

          ผลักดันให้มีการยกเลิกและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่จําเป็น ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในขณะที่ประเทศไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รวมถึงให้มีการบัญญัติหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบอนุญาตไว้ในกฎหมายและพึงยกเลิกระบบที่ให้อำนาจคณะกรรมการในการใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาต อนุมัติ หรือสั่งการ ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของความไม่เป็นธรรมและเป็นช่องทางในการทุจริต ตลอดจนส่งเสริมให้ทนายความ นักกฎหมาย และนักวิชาการ รวมทั้งสถาบันการศึกษา ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง การร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ต้องให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย      มีส่วนร่วม มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาแสดงให้สาธารณะ       ได้ทราบและมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านได้ด้วย

-๖-

          จัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคที่เป็นอิสระในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และหลากหลายอาชีพ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายหลังกฎหมายใช้บังคับแล้ว รวมทั้งส่งเสริมให้มีหน่วยงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประจำจังหวัดหรือท้องถิ่นบางแห่งที่มีความจำเป็น ปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีที่มาจากตัวแทนสหวิชาชีพและมีความยึดโยงกับประชาชน ตลอดจนมีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลคำสั่งหรือคำพิพากษา 

          ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้แก่ งานตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ กรมบังคับคดี และกระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและ    มีการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รวมถึง มีการช่วยเหลือประชาชน      ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในทางอาญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา เช่น สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือขั้นตอนการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่มีหน้าที่สอบสวนในทางอาญา ต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานและมาตรฐานการสอบสวน อีกทั้งจะต้องกระทำในรูปขององค์คณะเพื่อป้องกันการแทรกแซงที่ไม่เป็นธรรมและให้ถือมติเสียงข้างมากในการ      มีความเห็นทางคดี เป็นต้นรวมถึง ให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ศาลเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางและต้องไม่ใช่หน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ตาย ร่วมเป็นผู้สอบสวนสาเหตุการตายที่เกิดจากการวิสามัญฆาตกรรม หรือ การตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงให้ดำเนินการไต่สวนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

          ปฏิรูประบบราชทัณฑ์ที่มีผู้ต้องขังแออัดและสุขอนามัยขัดหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อนคำพิพากษาคดีถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่ายังไม่ใช่ผู้กระทำผิด จะปฏิบัติเหมือนนักโทษเด็ดขาดไม่ได้

ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูล ได้แก่ ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ระบบคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม      เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการ การตรวจสอบถ่วงดุลเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม และผู้บังคับใช้กฎหมายอื่น ตลอดจนตรวจสอบทบทวนสัญญา รวบรวม คัดกรองข้อมูลเกี่ยวกับคดี รวมถึงการใช้คลังข้อมูลที่จัดเก็บในรูปแบบที่สามารถนำไปวิเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

(๓.๔) ด้านเศรษฐกิจ

          ส่งเสริมและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจกระแสหลักแบบเสรีและเป็นธรรม หรือ  ระบบเศรษฐกิจแบบทางเลือก ที่หมายรวมถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มุ่งใช้องค์ความรู้ การสร้างสรรค์งานทรัพย์สิน      ทางปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนระบบเศรษฐกิจฐานคุณธรรม ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือดูแล ผู้เดือดร้อน และธุรกรรมทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนา 

(๓.๔.๑) เศรษฐกิจภาพรวม

          ยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันและขจัดสัมปทานการผูกขาด ควบรวม ครอบงำ หรือซื้อกิจการของกลุ่มทุน รวมทั้งสนับสนุนสินค้าไทยที่ได้มาตรฐานอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดจากสินค้าข้ามชาติ ปฏิรูปสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนที่มุ่งหารายได้และกำไรที่มากเกินควรจากค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย หรือค่าบริการที่เรียกเป็นอย่างอื่น พร้อมทั้ง ให้สถาบันการเงินของรัฐให้ยึดนโยบายหลักด้านการช่วยเหลือทางสังคมและเศรษฐกิจแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 

-๗-

          จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ส่งเสริมและขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ พร้อมกับพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคม ทั้งในส่วนของรถไฟและสนามบินในภูมิภาค

          พัฒนาเศรษฐกิจเชิงนิเวศวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตามศักยภาพบุคคลในท้องถิ่นที่มีความชำนาญและโดดเด่นในแต่ละสาขาการผลิต ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน  ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมุ่งสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ที่ไทยเป็นสมาชิก ตลอดจนพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคและนอกภูมิภาค 

          ส่งเสริมการค้าชายแดนครบวงจร สร้างความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการเชื่อมโยงกับประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน โดยใช้ศักยภาพทางภาษาและวัฒนธรรมเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะร่วมมือกับประเทศมาเลเซียอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ยากจนในพื้นที่ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารไทยหรือร้าน “ต้มยำ” พร้อมกับยกระดับแรงงานท้องถิ่นและเร่งจัดหาแหล่งงานในประเทศเพื่อนบ้าน

          ส่งเสริมเศรษฐกิจทางเลือกที่สอดคล้องกับศักยภาพ องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึง ความถนัดของประชาชนและท้องถิ่นส่งเสริมประชาชนในการประกอบกิจการอิสระผ่านการทำธุรกิจออนไลน์ ส่งเสริมสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่และผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ผ่านการตั้งกองทุนและวิธีการอื่นๆ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจครบวงจรและธุรกิจเครือข่ายให้เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จำเป็นต้องประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ เช่น หาบเร่แผงลอย คนทำงานภาคกลางคืน รวมทั้งความสำคัญกับมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมาย 

          พัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานคุณธรรม โดยส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนกิจการเพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้เดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันทางการเงิน สหกรณ์ หรือกองทุน ที่เปิดช่องให้ดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนา เช่น สถานธนานุบาลปลอดดอกเบี้ย เป็นต้น

          ในระดับหมู่บ้านและชุมชน ดำเนินการพัฒนาอย่างเสมอภาคและสอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และจัดสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง สนับสนุนครัวเรือนที่มีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งยกระดับ OTOP และวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนเป็น “หนึ่งอำเภอหนึ่งอุตสาหกรรม”   

(๓.๔.๒) แก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินภาคประชาชน

          ให้ความสำคัญกับแก้ไขปัญหาความยากจนกลุ่มครัวเรือนรากหญ้าด้วยให้ความรู้ ทักษะ และเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ปัจจัยการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะที่ดินทำกิน และตลาด ส่วนผู้ยากจนข้นแค้นจะช่วยเหลือด้วยการสังคมสงเคราะห์ เช่น ที่พักอาศัย เงินสงเคราะห์รายเดือน

ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและแก้ปัญหาลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่อาจช่วยตัวเองได้ โดยจัดตั้งสถาบันช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การจัดตั้งธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank)    ที่มีรูปแบบการแก้ปัญหาหลายวิธีตามความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาทิ การซื้อหนี้เสียและหลักทรัพย์ค้ำประกัน

-๘-

          ของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินได้นำลูกหนี้และหลักทรัพย์ค้ำประกันไปไว้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือโดยยึดแนวทาง “ทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ลูกหนี้จะไม่ถูกฟ้องร้องและจะได้ทรัพย์คืน เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ และรัฐบาลจะไม่เสียหาย” การช่วยเหลือจะขายหนี้คืนให้กับลูกหนี้ในราคาเท่าทุน เพื่อเป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูลูกหนี้ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติโดยการพักชำระหนี้ และมีมาตรการหรือวิธีการฟื้นฟูอาชีพลูกหนี้ให้มีรายได้เพียงพอในการชำระหนี้คืน เป็นต้น

          นอกจากนี้ จะจัดให้มีการสอบทานและทบทวนการบริหารจัดการกองทุนที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีในรูปองค์การมหาชน องค์การของรัฐที่เป็นอิสระ หรือ กองทุนที่เป็นนิติบุคคลอื่น เพื่อการพัฒนาหรือที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารจัดการของกระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานที่เรียกเป็นอย่างอื่นที่ผลการประเมินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่คุ้มค่าให้ปฏิรูปและส่งเสริมให้จัดตั้งบรรษัทบริหารจัดการกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development and Management Fund/ NDMF)  เพื่อใช้เป็นกลไกในการสร้างความเข็มแข็งให้กับคนรากหญ้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและ กรณี กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็จะมีการตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันเพื่อส่งเสริมสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งให้มีการชะลอหรือเจรจาไกล่เกลี่ยให้มีการชำระหนี้แบบผ่อนปรน          โดยหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการกู้ยืม การเจรจา การปรับโครงสร้างหนี้         ที่เหมาะสม พร้อมทั้งมีการนำมาตรการหรือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติ รวมทั้งจัดตั้ง “บรรษัทบริหารจัดการกองทุนเพื่อคนรากหญ้า” ( Wealth Management Fund for the Grassroots/WMFG) หรือ “บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์แห่งชาติเพื่อคนรากหญ้า” (National Assets Management Company for the Grassroots/NAMCG) เพื่อรับซื้อหรือโอนหนี้มีปัญหาหรือหนี้เสียมาบริหารจัดการโดยไม่ทำลายวิธีปฏิบัติของธุรกรรมการกู้ยืมเงิน

(๓.๔.๓) เศรษฐกิจการเกษตร

          สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรอย่างครบวงจรและถือเป็นวาระของชาติ คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาดให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด เน้นการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปสภาเกษตรกรเพื่อวางแผนการเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วม สนับสนุนและคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระ รวมทั้งขจัดและป้องกันการผูกขาดระบบการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม 

          จัดตั้งและปรับปรุงองค์กรเพื่อพัฒนาการตลาดการเกษตร เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคและสามารถเชื่อมโยงกับตลาดภายในและตลาดโลก 

          ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและประมงพื้นบ้านเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันในระดับชาติ โดยให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการผลิตและส่งเสริมการจำหน่าย 

          ยกระดับความสามารถของวิสาหกิจท้องถิ่นเกี่ยวกับอาหารและให้มีบทบาทหลักในระบบกระจายอาหาร ไม่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุน ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บรักษาและปรับปรุงพันธุ์พืชที่ตนใช้เพาะปลูกได้ ส่งเสริมวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนขยายระบบชลประทาน โดยเน้นระบบชลประทานในไร่นาแทนการสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่

-๙-

          กรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาการเกษตรและการปศุสัตว์ ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ ต่อยอดและพัฒนาการเกษตรพื้นบ้าน เช่น สวนดูซง (สวนไม้ผลผสมผสาน) สวนทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน การปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 

(๓.๕) ด้านสังคม

          ส่งเสริมและสนับสนุน “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่กลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และความเชื่อต่างๆ สามารถดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณี และตามความสมัครใจ โดยไม่มีการผูกขาด ครอบงำ หรือเลือกปฏิบัติ ทุกคนได้รับการส่งเสริมศักยภาพให้เกิดเป็นคุณค่าและเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยผลักดันให้มีมาตรการคุ้มครองสังคมพหุวัฒนธรรมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และป้องกันการยุยงปลุกปั่นหรือสร้างความเกลียดชังโดยอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมกับพัฒนาสังคมในแต่ละด้านดังนี้  

(๓.๕.๑) เด็กและเยาวชน

          เด็กและเยาวชนมีสิทธิในการอยู่รอด ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการ     มีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือและดูแลเด็กกำพร้า เด็กพิเศษ ตลอดจนเด็กที่เป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติ 

          มีมาตรการเพื่อสร้างผู้นำเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนประชาธิปไตยเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำพาประเทศชาติในอนาคต พร้อมกับสนับสนุนให้มีการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่เยาวชน 

          แก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม บำบัด ฟื้นฟู         ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนนำมาตรการที่สัมฤทธิ์ผลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึง ผลการวิจัยเกี่ยวกับตัวยาและสารเสพติดมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย กรณีเด็กและเยาวชนที่ติดยาเสพติด ส่งเสริมการนำระบบ “ยุติธรรมทางเลือก” มาใช้ในการแก้ปัญหาที่เอื้อต่อบทบาทของครอบครัว ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชน ในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ใช้วิธีการแก้ไขแทนการลงโทษ ใช้การกีฬาเพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการเยาวชนกับระบบเศรษฐกิจเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างงาน สร้างรายได้ เข้าสู่ชุมชนและสังคม  ตลอดจน ป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของยาเสพติด เช่น กรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดน้ำต้มใบกระท่อม สนับสนุนให้มี “สภาเยาวชน…” เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  โดยให้มีการฝึกอบรมเสวนาผ่าน “สถาบันพัฒนาประชาธิปไตย” รวมถึง ทำความรู้จักและดูแลซึ่งกันและกัน ส่งเสริมสนับสนุนให้มี “ศูนย์กีฬาประจำตำบล” รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ศาสนบำบัดยาเสพติดครบวงจร

(๓.๕.๒) การศึกษา

          การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นเสรีภาพของบุคคล โดยสนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและ       ทุกรูปแบบให้เท่าเทียมกันและได้มาตรฐานนานาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาความคิด สติปัญญา และศักยภาพของผู้เรียน ให้มีการบูรณาการทั้งทางสติปัญญา จิตวิญญาณ วุฒิภาวะทางอารมณ์ และความสมบูรณ์ของร่างกาย มีหลักสูตรและกิจกรรมที่สร้างความรับผิดชอบ มีคุณธรรม ยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี เสียสละ และมีจิตใจที่เป็นมิตรภาพบนความแตกต่างหลากหลาย เพื่อเป็นประชากรคุณภาพของประเทศและประชาคมโลก 

-๑๐-

 

          ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาทุกระดับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์การทางศาสนา ตลอดจน เอกชน พัฒนาครูให้มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบ ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการศึกษา จัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่เสมอภาคและเป็นธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อการศึกษาแบบถ้วนหน้าจนถึงระดับปริญญาตรี ส่งเสริมสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาในต่างประเทศ สร้างโอกาสทางการศึกษาของผู้มีข้อจำกัดด้านเงินทุน โดยสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือการศึกษาที่ท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นฝ่ายบริหารและดำเนินการ

          ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีรูปแบบการศึกษาเป็นการเฉพาะหลายรูปแบบให้ยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และอุดหนุนการจัดการศึกษาทุกระดับในโรงเรียนเอกชนสามัญ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ส่งเสริมการเรียนการสอนทางศาสนาของทุกศาสนาในสถาบันการศึกษารูปแบบต่างๆ ส่งเสริมให้มีค่าตอบแทนครูสอนศาสนา ส่งเสริมระบบการศึกษาบนฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ รวมทั้งพัฒนาความคิด สติปัญญา และศักยภาพของทุกชาติพันธุ์โดยเริ่มต้นจากภาษาแม่ อาทิ ภาษามลายู

          เพิ่มสิทธิและบทบาทของระบบการศึกษาทางเลือกและการศึกษาด้วยตัวเองของประชาชนในทุกช่วงวัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและของโลก 

          สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน วิจัย และบริการวิชาการแก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเสรีภาพทางวิชาการ ตลอดจน  มีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้มีกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่ท้องถิ่น นักวิจัย นักวิชาการ และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ สามารถเข้าถึงทุนการวิจัยได้อย่างเท่าเทียมกัน

          ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการวิจัยของประเทศให้สามารถตอบสนอง  ต่อความจำเป็นของสังคม ประชาชน และภาคธุรกิจ  รวมถึง มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยให้เกิดความรู้ การพัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาและจัดให้มีองค์กรด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในระดับชาติและระดับต่างๆ เพื่อประมวลผลข้อมูลจากงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศในทุกด้าน  

(๓.๕.๓) สตรี

          ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรมระหว่างเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการยอมรับบทบาทสตรี โดยเสริมพลังของสตรี สร้างช่องทางและกลไกให้แก่สตรีในการพัฒนา การบริหาร และการตัดสินใจในระดับต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สาธารณสุข สังคม การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม ส่งเสริมศักยภาพ ตลอดจน สิทธิในทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้หญิง โดยเฉพาะสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินอื่น รวมทั้งการเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ การศึกษาด้านศาสนา และการศึกษาตลอดชีวิตของผู้หญิงทั้งในระบบและนอกระบบ สนับสนุนการยุติความรุนแรงต่อสตรี สนับสนุนให้สตรีสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด ส่งเสริมสุขภาวะและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรี จัดตั้งสภาสตรีระดับจังหวัด ภาค และระดับชาติ พร้อมทั้ง จัดให้มีสถาบันพัฒนาสตรี ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น

          เพิ่มศักยภาพกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และศักยภาพในการเป็นผู้นำ รวมถึง การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของกลุ่มสตรี เพิ่มสัดส่วนของสตรีในระดับผู้บริหารเพื่อให้มีอำนาจในการตัดสินใจทั้งภาคการเมือง ราชการ และเอกชน โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการจ้างงานเพื่อความเท่าเทียมและยุติธรรมของสตรี ทำหน้าที่เสนอแนะ  พร้อมทั้ง คัดกรองบุคคลเข้าทำงาน ตลอดจนพิจารณาตำแหน่งและค่าตอบแทนที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

-๑๑-

(๓.๕.๔) ศาสนาและจิตวิญญาณ

          ส่งเสริมสนับสนุนศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน เน้นความเป็นพหุวัฒนธรรมในทางศาสนาและจิตวิญญาณ โดยให้ความเคารพ  ตลอดจน ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการนับถือและการปฏิบัติตามหลักบัญญัติของศาสนา นิกาย ลัทธินิยม และการยึดถือในทางจิตวิญญาณในลักษณะต่างๆ 

          ในส่วนของศาสนา เน้นปฏิรูปองค์กรการบริหารของทุกศาสนาให้มีธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพในการพัฒนาสังคมบนฐานคุณธรรมและจริยธรรม แก้ไขกฎหมาย รวมถึง การจัดองค์กรในการสนับสนุนศาสนาให้เหมาะสมและเกิดความเสมอภาค ส่งเสริม ตลอดจน สนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมทางศาสนา อาทิ การสนับสนุนการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือทำบุญและการปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนา  ตลอดจน ธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธ และ การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบียของชาวมุสลิม เป็นต้น สนับสนุนสวัสดิการและค่าตอบแทนบุคลากรทางศาสนาของทุกศาสนา กรณีศาสนาพุทธ ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ บุคลากรและองค์กรในพระพุทธศาสนา กรณีศาสนาอิสลาม ได้แก่ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น กรรมการอิสลามมัสยิด และกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตลอดจนบุคลากรของศาสนาอื่นๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีกิจกรรมข้ามวัฒนธรรมระหว่างศาสนิกต่างศาสนาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน

          ปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ที่การวินิจฉัยชี้ขาดกรณีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลาม ที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วยกันเป็นคู่ความหรือเป็นเจ้ามรดก ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทน โดยให้ดะโต๊ะยุติธรรมร่วมพิจารณาพิพากษาพร้อมกับผู้พิพากษา และให้ขยายไปยังพื้นอื่นที่มีประชากรเป็นมุสลิมหนาแน่นรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วย

(๓.๕.๕) แรงงานและระบบสวัสดิการ

          แรงงานมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน  รวมถึง หลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นจากการทำงาน ส่งเสริมให้ประชากร     วัยทำงานมีงานทำ พัฒนาทักษะแรงงานและการประกอบอาชีพ จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ ตลอดจน ระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม คุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งจัดให้มีหรือส่งเสริม       การออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน

          ส่งเสริม ตลอดจน คุ้มครองสิทธิแรงงานทุกเพศและวัย รวมทั้งสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงานในทุกสาขาอาชีพและการนัดหยุดงาน พัฒนาระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาแรงงานกึ่งทักษะให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ ส่งเสริมสนับสนุนแรงงานและผู้ประกอบการในต่างประเทศทั้งด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน การสนับสนุนแหล่งทุน การลดค่าใช้จ่ายและการดูแลสวัสดิภาพที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติหรือพลเมืองโลก 

          กรณีผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมการกระจายโอกาสและความมั่นคง     ในชีวิต ให้มีความรู้และมีกองทุนในการประกอบอาชีพตามความรู้ความสามารถ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          จัดตั้ง “กองทุนผู้สูงอายุ” เพื่อดูแลสุขภาพและจิตใจ ตลอดจนให้มีพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งเสริมการใช้เครื่องมือทางศาสนา  รวมถึง  วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นในการทำให้ผู้สูงอายุตระหนักในศักยภาพและคุณค่าของตน พึ่งพาตนเองได้ และมีอิสรภาพในการกำหนดชีวิตในแบบของตน 

-๑๒-

          ส่งเสริมระบบบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งรัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างเสมอหน้า ด้วย “สิทธิที่เสมอกัน” ไม่ว่ายากดีมีจน ภายใต้หลักการที่ว่าสวัสดิการเป็น “สิทธิ” อันพึงมีของประชาชน มิใช่เพียงแค่ “หน้าที่” ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถา

(๓.๕.๖) สาธารณสุข 

          การสาธารณสุขเป็นสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ มีการนำเทคโนโลยี ตลอดจนคลังข้อมูลมาใช้ใน       การบริหารงบประมาณและบุคลากร พร้อมทั้งส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 

          ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและ   การป้องกันโรค โดยการบริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม ตลอดจนการป้องกันโรค
การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ 

          ส่งเสริม “การแพทย์พหุลักษณ์” ที่ตอบสนองต่อความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม นิเวศวิทยา รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ พัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการตรวจสุขภาพตามวิถีศาสนา ตลอดจน สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารอาหารสุขภาพประจำตำบล” เนื่องจากสารพิษปนเปื้อนในอาหารเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของความเจ็บป่วยในปัจจุบัน 

(๓.๕.๗) การท่องเที่ยวและการกีฬา

          ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน      โดยหมายรวมถึงการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว อาทิ ระบบการคมนาคม ระบบไฟฟ้า และระบบน้ำประปา ทั้งนี้ โดยให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม มีความสอดคล้องกับสภาพสังคม อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และอยู่บนฐานของความยั่งยืนของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

          ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึง ภาครัฐ ในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน

          ส่งเสริมการกีฬารวมถึงวิทยาศาสตร์และเวชศาสตร์การกีฬา โดยจัดให้มีบริการสาธารณะด้านกีฬา มีการจัดตั้งสโมสรหรือศูนย์กีฬาชุมชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ให้มีสนามและอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน เพื่อให้บริการด้านการกีฬาแก่เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ สตรี รวมทั้ง        ผู้พิการ ตลอดจนส่งเสริมให้เอกชนมีการลงทุนด้านการกีฬา โดยสร้างแรงจูงใจด้านสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ สิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้อื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงกีฬามากขึ้น 

          จัดตั้งสภากีฬาแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในทุกประเภทกีฬา ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการกีฬาของชาติ มีการจัดตั้งสถาบันบริหารการกีฬาอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นกีฬาอาชีพ วิทยาศาสตร์การกีฬา และเวชศาสตร์การกีฬา เพื่อพัฒนาการกีฬาของชาติ รวมทั้งสนับสนุนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการแข่งขันทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยให้มีสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้ง มีอุปกรณ์กีฬาที่ได้มาตรฐาน 

(๓.๖) ด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

          ปฏิรูปกฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหา โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

-๑๓- 

          กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการใช้ที่ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับระบบนิเวศ ความเป็นจริง วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย 

          กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบการเกษตรอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดิน การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และวิธีการอื่นๆ ทั้งในส่วนโฉนดรวมของชุมชนและที่ดำเนินการผ่านธนาคารที่ดินในฐานะองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อให้คนจนเข้าถึง ตลอดจนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน และเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในกรณีที่รัฐได้ประกาศให้ที่ดินของประชาชนแต่เดิมเป็นพื้นที่ “ป่า”

ส่งเสริมให้มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการดำรงชีวิตอยู่ในป่า  รวมถึง ในเขตสงวนอื่นๆ ของรัฐ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ คุ้มครอง บํารุง รักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ ตลอดจน สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ การให้สัมปทาน  ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของประชาชน ต้องให้ประชาชนรวมถึงชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ เพื่อความเป็นธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

          จัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในส่วนของการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์

          สนับสนุนและปรับปรุงกิจการและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้มีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง ส่งเสริมให้ชุมชนมีสิทธิและบทบาทในการจัดการ ตลอดจน ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

          ในด้านทรัพยากรประมงและชายฝั่ง ปฏิรูปกฎหมายประมงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน สนับสนุน รวมถึง ปรับปรุงให้การประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีความยั่งยืน ไม่ทำลายล้าง ตลอดจน เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน กระจายอำนาจในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมระหว่างชาวประมงทุกกลุ่ม สำหรับพื้นที่ชายฝั่งที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือและร่องน้ำ ส่งเสริมการจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศที่เอื้อต่อเรือประมงในประเทศและเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 

          ส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพดินและสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยประชาชน ชุมชนท้องถิ่น รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน และจัดให้มีการวางผังเมืองที่ได้รับการดำเนินตามอย่างมีประสิทธิภาพ

          ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยสนับสนุน ตลอดจนพัฒนาให้มีการผลิต ตลอดจนใช้พลังงานทางเลือกทั้งในระดับครัวเรือน ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกำกับทิศทางตลาดพลังงานบนผลประโยชน์ของส่วนรวม รวมทั้งนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยจัดการการกระจายพลังงานให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 

(๓.๗) นโยบายด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ

          พรรคประชาชาติเห็นความสำคัญต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน เพราะเสรีภาพสื่อมวลชน คือเสรีภาพของประชาชน  ดังนั้น พรรคจะไม่ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนได้

-๑๔-

แสดงความคิดเห็นตามสิทธิ เสรีภาพของประชาชนด้วย เพราะในสังคมพหุวัฒนธรรม การสื่อสาร สร้างความเข้าใจต่อกัน ต่อกันในสังคม เป็นนโยบายของพรรคประชาชาติ และจะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในโลกปัจจุบัน

          การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและข้อมูลแบบเปิด (Open Data) การส่งเสริมภาครัฐให้จัดทำระบบสารสนเทศหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการประชาชน เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ตโปรแกรมประยุกต์(Application/Mobile Application) เป็นต้น ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการภาครัฐผ่านทางเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ รวมถึง การส่งเสริมให้มีการใช้บริการศูนย์สารสนเทศชุมชนให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน        การนำเสนอผลิตภัณฑ์ของชุมชนหรือโอทอปการขายผลิตภัณฑ์เกษตรผ่านทางเครือข่ายออนไลน์ เป็นต้น และการเสริมความรู้ให้กับประชาชนเพื่อให้มีศักยภาพพัฒนาตนเองหรือเลือกใช้บริการภาครัฐสำหรับการส่งเสริมอาชีพและวิสาหกิจชุมชนได้ เพื่อให้ชุมชนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การให้ภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีของประเทศ และการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในด้านทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่สำคัญ และนวัตกรรมที่แข่งขันได้ในระดับสากล

(๔) นโยบายแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ของประเทศ

(๔.๑) ความขัดแย้งทางการเมือง

          ในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในเขต “ชนบท” ได้ก่อให้เกิดกลุ่มคนที่มีความปรารถนาในชีวิต ตลอดจน จินตนาการทางสังคมและการเมืองแบบใหม่ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะที่อยู่ใน “ต่างจังหวัด” เกิดความตระหนักว่าการเมืองคือช่องทางในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะซึ่งเคยกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน กลุ่ม องค์กร ในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ ขณะที่การเมืองเชิงนโยบายส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นช่องทางกระจายทรัพยากรสาธารณะอย่างเป็นธรรม และเป็นวิธีการขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน แต่ทว่าความปรารถนา จินตนาการ ความรู้ ความเข้าใจ และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ขัดกับกับอำนาจ ผลประโยชน์ ระบบคุณค่า ความเชื่อ และอุดมการณ์ของคนบางกลุ่มในสังคม ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน การเผชิญหน้า รวมถึงการใช้กำลังแก้ไขปัญหา ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งแหลมคมและซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีนโยบายคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอย่างรอบคอบรัดกุม   

          ในเบื้องต้น ต้องเร่งฟื้นฟูสถาบันและกลไกในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะพรรคการเมือง ระบบรัฐสภา และการเลือกตั้งให้สามารถกลับมาทำหน้าที่ในการคลี่คลายปัญหาหรือว่าตอบสนองต่อความต้องการหรือผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลายของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับส่งเสริมให้กลไกรัฐโดยเฉพาะด้านความมั่นคงและความยุติธรรมทำหน้าที่แก้ปัญหาของประเทศและประชาชนในครรลองของระบอบประชาธิปไตย แทนที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของการต่อสู้ทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งบานปลายและแก้ไขไม่ได้ในที่สุด พร้อมทั้งสร้างหลักประกันและมาตรการทางกฎหมายในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ตลอดจนสร้างกระบวนการตรวจสอบและลงโทษการใช้อำนาจโดยมิชอบของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม 

  ในระดับถัดมา ต้องเร่งฟื้นฟูและส่งเสริมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือ      ภาคประชาสังคมให้กลับมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศในลักษณะที่เป็น

-๑๕-

          การหนุนเสริมการเมืองระบบรัฐสภา พร้อมกับสร้างความตระหนักในกลุ่มและองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านใดไม่สามารถแยกออกจากปัญหาการเมืองได้จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาการเมืองไปด้วยในเวลาเดียวกัน และปัญหาการเมืองรวมถึงความขัดแย้งที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม อีกทั้งการเห็นว่าบุคคลมีสิทธิ มีเสียง และมีคุณค่าไม่เสมอกัน 

          ในระยะยาว ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนและสังคมเห็นว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งปกติของทุกสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ปัญหา ความต้องการ ความใฝ่ฝัน และผลประโยชน์ ซึ่งสามารถคลี่คลายได้ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้เจรจาต่อรองกันอย่างเสมอหน้าและอย่างสันติ รวมไปถึง “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่คนกลุ่มต่างๆ     มีความเคารพ อดทน ตลอดจน อดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายของกันและกันโดยเฉพาะในด้านอุดมการณ์      ทางการเมือง    

(๔.๒) เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่บางแห่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และมีผลกระทบต่อความสงบสุข ขวัญ และกำลังใจของประชาชนในพื้นที่ จึงสมควรกำหนดให้มีการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะที่เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับมีนโยบายสำคัญดังนี้

          เร่งยุติความไม่สงบที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมทั้งเร่งสร้างความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ด้วยการสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในการอยู่ร่วมกันของสังคม สนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนและโลกมุสลิมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน 

          ขจัดความรู้สึกหวาดระแวง อคติ และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันของฝ่ายต่างๆ ในระดับพื้นที่และในระดับประเทศ ส่งเสริมการเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิดเห็นในการอยู่ร่วมกัน 

          ลดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ส่งเสริมให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม และความคิดที่เปิดกว้างเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการบริหาร การพัฒนา และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 

ปฏิรูปและปรับปรุงกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับในพื้นที่ ได้แก่ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน รวมทั้งในขั้นตอนบังคับใช้กฎหมายด้วย        ในหมู่บ้าน ชุมชน และสังคมเมือง ให้ใช้กำลังตำรวจและ/หรือพลเรือนดูแลความสงบและปลอดภัยตามอำนาจหน้าที่แทนกำลังทหารซึ่งต้องใช้ปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกันประเทศ

เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการอำนวยความเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการค้นหาความจริง รวมทั้งนำกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์หรือยุติธรรมชุมชนที่อยู่บนฐานของหลักการศาสนามาปรับใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งตลอดจนการเยียวยาหรือ ฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เด็กกำพร้า หญิงหม้าย และมารดาผู้สูญเสีย 

ส่งเสริมและพัฒนาระบบเรือนจำ ทัณฑสถาน ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามหลักปฏิบัติทางศาสนา อาทิ ให้ผู้ต้องขังได้ปฏิบัติศาสนกิจ การแต่งกาย และการจัดเลี้ยงอาหาร ส่วนการเยี่ยม การย้ายผู้ต้องขังกลับภูมิลำเนา และการแก้ไขปัญหาปริมาณผู้ต้องขังแออัด ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

-๑๖-

          นอกจากนี้ การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีนโยบายด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา  การพัฒนาทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ลักษณะทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศ ปัจจัยทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คนที่เชื่อมโยงกับนานาชาติรวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาเร่งด่วนที่เป็นความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนในพื้นที่ด้วย ได้แก่ ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ  ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ดังที่ได้ระบุไว้แล้วในหมวดนโยบายรวมด้านต่างๆ 

หมวด ๔

โครงสร้างการบริหารพรรคและตำแหน่งต่างๆในพรรค

ส่วนที่ ๑

โครงสร้างการบริหารพรรคการเมือง

ข้อ ๘ โครงสร้างของพรรคประชาชาติ ประกอบด้วย

(๑) คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

(๒) คณะกรรมการสาขาพรรคการเมือง

(๓) ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

ส่วนที่๒

คณะกรรมการบริหารพรรค

ข้อ ๙ ให้มีกรรมการคณะหนึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๘ คน ประกอบด้วย

(๑) หัวหน้าพรรค

(๒) รองหัวหน้าพรรค

(๓) เลขาธิการพรรค

(๔) รองเลขาธิการพรรค

(๕) เหรัญญิกพรรค

(๖) นายทะเบียนสมาชิกพรรค

(๗) โฆษกพรรคการเมือง

(๘) รองโฆษกพรรคการเมือง

(๙) กรรมการบริหารพรรคอื่น

ส่วนที่ ๓

หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกการให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง 

การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง 

หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค

ข้อ ๑๐ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ดำเนินการในที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองโดยการลงคะแนนลับตามลำดับดังนี้        

(๑) ให้ที่ประชุมใหญ่กำหนดจำนวนของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามข้อ ๘

-๑๗-

(๒) ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจนครบจำนวนตามที่กำหนด ใน (๑) ซึ่งในการเสนอชื่อผู้เข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองแต่ละตำแหน่งต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมรับรองไม่น้อยกว่า ๑๐ คน และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องอยู่ในที่ประชุม

ข้อ ๑๑ กรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ๔ปีนับแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองชุดใหม่แล้วแต่กรณี

ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองมิได้

ข้อ ๑๒ ความเป็นกรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดจากสมาชิกภาพ

(๔) อื่นๆตามที่กฎหมายหรือข้อบังคับพรรคกำหนด

เมื่อตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่างลงตามวรรคหนึ่งให้หัวหน้าพรรคแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งที่เหมาะสมเข้าทำหน้าที่แทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง      ซึ่งต้องกระทำภายใน๙๐วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

ข้อ ๑๓ กรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ครบวาระการดำรงตำแหน่งตามข้อบังคับพรรคการเมือง

(๒) ความเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองของหัวหน้าพรรคการเมืองสิ้นสุดลงตามข้อ ๑๒

(๓)  กรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดในกรณีกรรมการบริหารพรรค       ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) ให้รองหัวหน้าพรรคตามลำดับทำหน้าที่แทนหัวหน้าพรรคถ้าไม่มีรองหัวหน้าพรรคให้กรรมการบริหารพรรคที่เหลืออยู่ประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทนและให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ    ในกรณีกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะยกเว้นตาม (๒) ให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ในกรณีที่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้กรรมการบริหารพรรคที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ข้อ ๑๔ คณะกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) ดำเนินกิจกรรมของพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมายนโยบายพรรคข้อบังคับพรรคและมติของที่ประชุมใหญ่พรรครวมตลอดทั้งระเบียบประกาศและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(๒) ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายหรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

(๓) ให้ความเห็นชอบในการจัดทำแผนหรือโครงการที่จะดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง

(๔) ดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง

-๑๘-

(๕) บริหารการเงินทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดของพรรคและสาขาพรรคตลอดจนจัดทำบัญชีตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

(๖) ตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง

(๗) กรณีพรรคสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองหรือยุบพรรคยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จแต่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพความเป็น      พรรคการเมืองหรือยุบพรรคการเมืองมิได้

(๘) ออกกฎระเบียบและจัดตั้งหน่วยงานต่างๆเพื่อปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับพรรค

(๙) ควบคุมไม่ให้พรรคและผู้ซึ่งพรรคส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งใช้เงินเกินวงเงินตามที่กฎหมายกำหนด

(๑๐) เลิกพรรคการเมืองสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

(๑๑) กำหนดให้มีการประชุมใหญ่พรรคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งและรายงานกิจการด้านต่างๆต่อที่ประชุมใหญ่พรรค

(๑๒) แต่งตั้งและถอดถอนผู้ปฏิบัติงานของพรรคในกิจการต่างๆของพรรคและคณะทำงานเฉพาะกิจทั้งในส่วนกลางและส่วนสาขาพรรค

(๑๓) ให้จัดตั้งสภาผู้ทรงคุณวุฒิสภาสตรีและสภายุวสมาชิกโดยให้มีจำนวนและอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อ ๑๕ กรรมการบริหารพรรคแต่ละตำแหน่งมีหน้าที่และอำนาจตังนี้

(๑) หัวหน้าพรรคการเมือง

(๑.๑) เป็นประธานของคณะกรรมการบริหารพรรคและเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ

บริหารพรรคตลอดจนดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค

(๑.๒) เป็นผู้เรียกประชุมใหญ่ของพรรคตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคและเป็นประธานของที่ประชุมใหญ่พรรคตลอดจนดำเนินการประชุมใหญ่พรรค

(๑.๓) เป็นผู้เรียกประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคและเป็นประธานของที่ประชุมตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการประชุมดังกล่าว

(๑.๔) เป็นผู้ลงนามประกาศกฎระเบียบมติของพรรคและคำสั่งพรรค

(๑.๕) ในกรณีที่มีความจำเป็นในการดำเนินการทางการเมืองให้มีอำนาจปฏิบัติการในนามของพรรคได้โดยความเห็นชอบของกรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นและให้ถือว่าการดำเนินการนั้นเป็นมติพรรค

(๑.๖) อำนาจอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับพรรค

(๒) รองหัวหน้าพรรคการเมืองมีหน้าที่และอำนาจตามที่หัวหน้าพรรคหรือคณะกรรมการ

บริหารพรรคมอบหมาย

(๓) เลขาธิการพรรคมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(๓.๑) เป็นผู้ตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการทั้งปวงของพรรคตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมายและให้รับผิดชอบโดยตรงจากหัวหน้าพรรคหรือรองหัวหน้าพรรคในกิจการที่หัวหน้าพรรคมอบหมายให้ปฏิบัติ

(๓.๒) เป็นผู้เสนอรายงานต่อคณะกรรมการบริหารพรรคที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคและต่อที่ประชุมใหญ่พรรค

-๑๙-

(๓.๓) เป็นเลขานุการของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรคคณะที่ปรึกษาพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคและที่ประชุมใหญ่พรรค

(๔) รองเลขาธิการพรรคมีหน้าที่และอำนาจตามที่เลขาธิการพรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย

(๕) เหรัญญิกพรรคมีหน้าที่ในการควบคุมรายรับรายจ่ายเงินบัญชีทรัพย์สินหนี้สินและงบการเงินของพรรคตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด

(๖) นายทะเบียนสมาชิกพรรคมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคและจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคให้ตรงตามความเป็นจริงและต้องให้สมาชิกพรรคตรวจดูได้โดยสะดวก ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองรวมทั้งประกาศชื่อและนามสกุลของสมาชิกพรรคให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วยเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้อง

(๗) โฆษกพรรคมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(๗.๑) แถลงมติที่ประชุมของพรรคและแถลงกิจการต่างๆของพรรค

(๗.๒) ประชาสัมพันธ์งานของพรรคตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย

(๘) รองโฆษกพรรคมีหน้าที่และอำนาจตามที่โฆษกพรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย

(๙) กรรมการบริหารพรรคอื่นๆ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด

ส่วนที่ ๔

สาขาพรรคการเมือง

ข้อ ๑๖ ภายใน๑ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคต้องดำเนินการให้มีสาขาพรรค ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาโดยสาขาพรรคแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเขตจังหวัดหรือภาคในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขาตั้งแต่ ๕๐๐ คน ขึ้นไป

ข้อ ๑๗ การจัดตั้งสาขาพรรคเมื่อเขตเลือกตั้งใดหรือเขตจังหวัดใดที่มีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งหรือเขตจังหวัดนั้นตั้งแต่ ๕๐๐ คน ขึ้นไปสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน อาจจัดประชุมเพื่อดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคกำหนดสถานที่ตั้งสาขาพรรคและให้หัวหน้าพรรคแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่หัวหน้าพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบให้จัดตั้งสาขาพรรค

ข้อ ๑๘ คณะกรรมการสาขาพรรคให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๘ คน ประกอบด้วย

(๑) หัวหน้าสาขาพรรค

(๒) รองหัวหน้าสาขาพรรค

(๓) เลขานุการสาขาพรรค

(๔) รองเลขานุการสาขาพรรค

(๕) เหรัญญิกสาขาพรรค

(๖) นายทะเบียนสมาชิกสาขาพรรค

(๗) โฆษกสาขาพรรค

(๘) รองโฆษกสาขาพรรค

(๙) กรรมการสาขาพรรคอื่นๆ

ข้อ ๑๙ กรรมการสาขาพรรคต้องเป็นสมาชิกพรรคมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี นับแต่วันที่เลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรค

-๒๐-

ข้อ ๒๐การเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคให้ดำเนินการในที่ประชุมจัดตั้งสาขาพรรคหรือที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคแล้วแต่กรณีดังนี้

(๑) ให้ที่ประชุมกำหนดจำนวนคณะกรรมการสาขาพรรคตามข้อ ๑๘

(๒) เลือกหัวหน้าสาขาพรรคเป็นลำดับแรกแล้วเลือกตำแหน่งอื่นๆจนครบ ตาม (๑)

(๓) การเสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการสาขาพรรคจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๒ คน ผู้รับรองและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องอยู่ในที่ประชุมจัดตั้งสาขาพรรคหรือที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคแล้วแต่กรณี

ข้อ ๒๑ คณะกรรมการสาขาพรรคมีหน้าที่และอำนาจดังนี้

(๑) ดำเนินกิจกรรมของพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมายนโยบายพรรคข้อบังคับพรรคและมติของที่ประชุมใหญ่พรรครวมตลอดทั้งระเบียบประกาศและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(๒) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทย

(๓) ร่วมกับประชาชนในการหาแนวทางการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น     ในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจและความสงบสุขของประชาชนประกอบกัน

(๔) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินงานขององค์กรอิสระอย่างมีเหตุผล

(๕) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดองรู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน

(๖) กิจกรรมอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมี

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรวมทั้งการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนทั้งนี้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข้อ ๒๒ กรรมการสาขาพรรคแต่ละตำแหน่งมีหน้าที่และอำนาจดังนี้

(๑) หัวหน้าสาขาพรรค

(๑.๑) จัดให้มีบัญชีรับและจ่ายเงินของสาขาพรรคการเมือง

(๑.๒) จัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมที่อยู่ของสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้ง

ของสาขาพรรค

                (๑.๓) เป็นผู้แทนของสาขาพรรคและเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมทั้งปวงของสาขาพรรค

(๑.๔) เป็นประธานของคณะกรรมการสาขาพรรคเรียกประชุมคณะกรรมการสาขาพรรคและเป็นประธานการประชุม

(๑.๕) เรียกประชุมใหญ่สาขาพรรคโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสาขาพรรคและเป็นประธานของที่ประชุมตลอดจนดำเนินการประชุม

(๑.๖) มีสิทธิยับยั้งมติคณะกรรมการสาขาพรรคหรือคณะกรรมการอื่นๆ ที่คณะกรรมการสาขาพรรคจัดตั้งขึ้นเพื่อขอให้มีการทบทวนมติในกรณีที่มีความจำเป็นแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน๓วันซึ่งหากพ้นกำหนดดังกล่าว      ให้ถือว่ามติของที่ประชุมนั้นมีผลใช้บังคับ

-๒๑-

(๑.๗) ในกรณีที่มีความจำเป็นในการดำเนินการทางการเมืองให้มีอำนาจปฏิบัติการในนามของสาขาพรรคได้โดยความเห็นชอบของกรรมการสาขาพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการสาขาพรรคเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นและให้ถือว่าการดำเนินการนั้นเป็นมติของสาขาพรรค

(๑.๘) อำนาจอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด

(๒) รองหัวหน้าสาขาพรรคมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่ประธานสาขาพรรคมอบหมาย

(๓) เลขานุการสาขาพรรคมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ

(๓.๑) ตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการทั้งปวงของสาขาพรรคตามที่คณะกรรมการสาขาพรรคมอบหมายและให้รับผิดชอบโดยตรงจากประธานสาขาพรรคในกิจการที่ประธานสาขาพรรคมอบหมายให้ปฏิบัติ

(๓.๒) เสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการสาขาพรรคและที่ประชุมใหญ่สาขาพรรค

(๓.๓) เป็นเลขานุการของที่ประชุมคณะกรรมการสาขาพรรคและที่ประชุมใหญ่สาขาพรรค

(๓.๔) กำกับดูแลการบริหารงานของสำนักงานสาขาพรรค

(๔) รองเลขานุการสาขาพรรคมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตามที่เลขานุการสาขาพรรคหรือคณะกรรมการสาขาพรรคมอบหมาย

(๕) เหรัญญิกสาขาพรรคมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมรายรับ – รายจ่ายบัญชีทรัพย์สินหนี้สินและงบการเงินของสาขาพรรคตามที่คณะกรรมการสาขาพรรคกำหนด

(๖) นายทะเบียนสมาชิกสาขาพรรคมีอำนาจรับผิดชอบทะเบียนสมาชิกสาขาพรรค

(๗) โฆษกสาขาพรรคมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ

(๗.๑) แถลงมติที่ประชุมและกิจการต่างๆของสาขาพรรค

(๗.๒) ประชาสัมพันธ์งานของสาขาพรรคตามที่คณะกรรมการสาขาพรรคมอบหมาย

(๘) รองโฆษกสาขาพรรคมีหน้าที่และอำนาจตามที่โฆษกสาขาพรรคมอบหมาย

(๙) กรรมการอื่นของสาขาพรรคมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตามที่ประธานสาขาพรรคหรือคณะกรรมการสาขาพรรคมอบหมาย

ข้อ ๒๓ ความเป็นกรรมการสาขาพรรคสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดจากสมาชิกภาพ

(๔) อื่นๆตามที่กฎหมายหรือข้อบังคับพรรคกำหนด

          เมื่อตำแหน่งกรรมการสาขาพรรคการเมืองว่างลงตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้หัวหน้าสาขาพรรคแต่งตั้งกรรมการสาขาพรรคคนใดคนหนึ่งที่เหมาะสมเข้าทำหน้าที่แทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่ง      ที่ว่างซึ่งต้องกระทำภายใน๙๐วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลงหากตำแหน่งหัวหน้าสาขาพรรคว่างลงตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้รองหัวหน้าสาขาพรรคตามลำดับทำหน้าที่แทนถ้าไม่มีรองหัวหน้าสาขาพรรคให้กรรมการสาขาพรรคที่เหลืออยู่เลือกกรรมการสาขาพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทนและให้มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าสาขาพรรคที่ว่างลงภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

ข้อ ๒๔ กรรมการสาขาพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อ

(๑) ครบวาระการดำรงตำแหน่งตามข้อบังคับพรรค

(๒) กรรมการสาขาพรรคว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการสาขาพรรคทั้งหมด

-๒๒-

          เมื่อคณะกรรมการสาขาพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้หัวหน้าสาขาพรรคมีอำนาจในการเรียกประชุมใหญ่เพื่อดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคชุดใหม่ภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

          ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสาขาพรรคการเมืองเหลืออยู่ หรือมีแต่ไม่ยินยอมดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองชุดใหม่ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจะดำเนินการเองหรือจะมอบหมายให้สมาชิกสาขาพรรคจำนวนหนึ่งดำเนินการแทนก็ได้

          ในกรณีที่มีเหตุให้คณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้คณะกรรมการสาขาพรรคที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคชุดใหม่

ข้อ ๒๕ เมื่อดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคครบตามที่กำหนดในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้วหากต่อมาภายหลังมีสาขาพรรคการเมืองไม่ครบตามมาตรา ๓๓ ให้ดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองให้ครบตามมาตรา ๓๓ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่สาขาพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบตามมาตรา ๓๓

ส่วนที่ ๕

ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

ข้อ ๒๖ เขตเลือกตั้งในจังหวัดใดที่มิได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคหรือสาขาพรรคถ้ามีสมาชิกพรรคซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน ๑๐๐ คน พรรคต้องแต่งตั้งสมาชิกพรรคซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกพรรคเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคในเขตเลือกตั้งนั้น

ข้อ ๒๗ การแต่งตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเมื่อเขตเลือกตั้งในเขตจังหวัดใดที่มีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งเกิน ๑๐๐ คน ให้สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า ๕๐ คน จัดประชุมเพื่อดำเนินการเลือกตัวแทนพรรคประจำจังหวัดโดยในการลงคะแนนให้สมาชิกพรรคมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้ ๑ คน และเมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้วให้นับคะแนนและประกาศผลการนับคะแนนแล้วรายงานชื่อสมาชิกพรรคซึ่งได้รับคะแนนลำดับสูงสุด๓ลำดับแรกให้หัวหน้าพรรคโดยเร็วและให้หัวหน้าพรรคแต่งตั้งสมาชิกพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในกรณีที่คะแนนเท่ากันให้เป็นอำนาจของหัวหน้าพรรค     ในการพิจารณาแต่งตั้งและให้หัวหน้าพรรคแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน ๑๕ วัน ตามมาตรา ๓๓ นับแต่วันที่แต่งตั้งตัวแทนสาขาพรรคประจำจังหวัด

ในกรณีที่ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดลำดับแรกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้หัวหน้าพรรคแต่งตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่ได้รับเลือกในลำดับถัดไปเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ส่วนที่ ๖

หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งการดำรงตำแหน่ง
การพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และอำนาจของตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ข้อ ๒๘ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดต้องเป็นสมาชิกพรรคมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ๔ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ข้อ ๒๙ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจดังนี้

(๑) ดำเนินกิจกรรมของพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมายนโยบายพรรคข้อบังคับพรรคและมติของที่ประชุมใหญ่พรรครวมตลอดทั้งระเบียบประกาศและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

-๒๓-

(๒) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทย

(๓) ร่วมกับประชาชนในการหาแนวทางการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น         ในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจและ         ความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนประกอบกัน

(๔) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินงานขององค์กรอิสระอย่างมีเหตุผล

(๕) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดองรู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน

(๖) กิจกรรมอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรวมทั้งการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนทั้งนี้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

 ข้อ ๓๐ ความเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดจากสมาชิกภาพ

(๔) หัวหน้าพรรคโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคสั่งให้ออกจากการเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ข้อ ๓๑ การบริหารจัดการสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

(๑) ให้มีการรับสมัครสมาชิกพรรค

(๒) ให้มีการจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคในพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขาพรรค

(๓) ประกาศชื่อและนามสกุลของสมาชิกพรรคให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

หมวด ๕

การประชุม

ส่วนที่๑

การประชุมใหญ่พรรคการเมือง

ข้อ ๓๒ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญของพรรคการเมืองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ข้อ ๓๓ สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือกรรมการบริหารพรรคจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของพรรคหรือไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คน แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่ามีสิทธิเข้าชื่อกันยื่นคำร้องขอให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคได้

ข้อ ๓๔ องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่พรรคประกอบด้วย

(๑) กรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

(๒) ผู้แทนของสาขาพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรคซึ่งในจำนวนนี้จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคไม่น้อยกว่า ๒ สาขา ซึ่งมาจากต่างภาคกัน

-๒๔-

(๓) ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

(๔) สมาชิกพรรค

ข้อ ๓๕ องค์ประชุมใหญ่ของพรรคตามข้อ๓๔ต้องมีรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คน การลงมติให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมในกรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ ๓๖ ให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ถ้าหัวหน้าพรรคไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองหัวหน้าพรรคลำดับต้นทำหน้าที่แทนถ้ารองหัวหน้าพรรคไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งเป็นประธานและให้เลขาธิการพรรคเป็นเลขานุการที่ประชุมแต่ถ้าเลขาธิการพรรคไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน

ข้อ ๓๗ การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค

(๑) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคหรือนโยบายของพรรค

(๒) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค

(๓) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเลขาธิการพรรคเหรัญญิกพรรคนายทะเบียนสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคอื่นของพรรค

(๔) การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค

(๕) ให้ความเห็นชอบรายงานการเงินและการดำเนินกิจการของพรรคที่ได้ดำเนินการไปในรอบปีที่ผ่านมา

(๖) กิจการที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าสาขาพรรค

(๗) กิจการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ กฎหมายหรือข้อบังคับพรรคการลงมติในที่ประชุมใหญ่ให้กระทำโดยเปิดเผยแต่การลงมติเลือกบุคคลตาม (๓) และ (๔) ให้ลงคะแนนลับ

ข้อ ๓๘ คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวให้หัวหน้าพรรคแจ้งกำหนดการประชุมให้ทราบล่วงหน้า   ไม่น้อยกว่า ๗ วัน โดยให้ระบุวันเวลาสถานที่และระเบียบวาระการประชุมด้วย

ส่วนที่ ๒

การประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมือง

ข้อ ๓๙ คณะกรรมการสาขาพรรคต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อย     ปีละ ๑ ครั้ง

ข้อ ๔๐ องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคประกอบด้วย

(๑) กรรมการสาขาพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสาขาพรรคการเมืองทั้งหมด

(๒) สมาชิกสาขาพรรคการเมือง

ข้อ ๔๑ องค์ประชุมใหญ่ของสาขาพรรคตามข้อ ๔๐ ต้องมีรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน การลงมติให้ถือเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาร่วมประชุมกรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้น      อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ ๔๒ ให้หัวหน้าสาขาพรรคเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคถ้าหัวหน้าสาขาพรรคไม่มาประชุมให้รองหัวหน้าสาขาพรรคทำหน้าที่แทนถ้ารองหัวหน้าสาขาพรรคไม่มาหรือไม่อยู่ในที่ประชุมให้คณะกรรมการสาขาพรรคที่มาประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมและให้เลขานุการสาขาพรรคทำหน้าที่เป็นเลขานุการในที่ประชุมถ้าเลขานุการสาขาพรรคไม่มาหรือไม่อยู่ในที่ประชุมให้คณะกรรมการสาขาพรรคที่มาประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการในที่ประชุม

-๒๕-

ข้อ ๔๓ กิจการดังต่อไปนี้ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่สาขาพรรค

(๑) กิจการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรือตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(๒) เลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคหรือกรรมการสาขาพรรค

ข้อ ๔๔ คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่สาขาพรรคทุกคราวให้ประธานสาขาพรรคแจ้งกำหนดการประชุม   ให้สมาชิกพรรคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า๗วันโดยให้ระบุวันเวลาและสถานที่ประชุมและระเบียบวาระการประชุมด้วย

ส่วนที่ ๓

การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

ข้อ ๔๕ การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคต้องมีกรรมการบริหารพรรคมาประชุมไม่น้อยกว่า  กึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ในขณะนั้นจึงจะเป็นองค์ประชุมให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานที่ประชุมถ้าหัวหน้าพรรคไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองหัวหน้าพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมแทนและให้เลขาธิการพรรคเป็นเลขานุการในที่ประชุมแต่ถ้าเลขาธิการพรรคไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้รองเลขาธิการพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน

ข้อ ๔๖ มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคให้ถือเสียงข้างมาก

ส่วนที่ ๔

การประชุมคณะกรรมการสาขาพรรคการเมือง

ข้อ ๔๗ การประชุมคณะกรรมการสาขาพรรคต้องมีกรรมการสาขาพรรคมาประชุมไม่น้อยกว่า       กึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการสาขาพรรคที่มีอยู่ในขณะนั้นจึงจะเป็นองค์ประชุมโดยให้หัวหน้าสาขาพรรคเป็นประธานในที่ประชุมหากหัวหน้าสาขาพรรคไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองหัวหน้าสาขาพรรคทำหน้าที่แทนและให้เลขานุการสาขาพรรคเป็นเลขานุการในที่ประชุมถ้าเลขานุการสาขาพรรคไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองเลขานุการสาขาพรรคทำหน้าที่แทน

ข้อ ๔๘ มติของที่ประชุมคณะกรรมการสาขาพรรคให้ถือเสียงข้างมาก

หมวด ๖

สมาชิกพรรคการเมือง

ส่วนที่ ๑

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกการเข้ารับเป็นสมาชิก

และพ้นจากการเป็นสมาชิก

ข้อ ๔๙ สมาชิกพรรคต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิดในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี

(๓) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา๙๘ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๔) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ

(๔) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นหรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา๑๘ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

-๒๖-

ข้อ ๕๐ การสมัครเป็นสมาชิกพรรคให้ยื่นใบสมัครตามแบบพิมพ์ของพรรคด้วยตนเองพร้อมด้วยเอกสารประกอบตามที่พรรคกำหนดสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคเริ่มตั้งแต่ได้ชำระค่าบำรุงพรรค

ข้อ ๕๑ สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๔๙ เว้นแต่เป็นกรณีมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๑) ของรัฐธรรมนูญ และเป็นการบวชตามประเพณีนิยม แต่ในระหว่างมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว จะใช้สิทธิในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองมิได้

(๔) พรรคมีมติให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุร้ายแรงอื่น

(๕) พรรคสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองหรือยุบพรรคการเมือง

การลาออกจากสมาชิกพรรคตามวรรคหนึ่ง (๒) ให้ถือว่าสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อ      นายทะเบียนสมาชิกพรรคหรือนายทะเบียนพรรคการเมือง

ส่วนที่ ๒

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกความรับผิดชอบของสมาชิกต่อพรรคและ
ความรับผิดชอบของพรรคต่อสมาชิก

ข้อ ๕๒ สมาชิกพรรคการเมืองมีสิทธิต่างๆดังต่อไปนี้

(๑) เสนอข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อพรรค

(๒) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค

(๓) ได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานคณะทำงานหรือคณะกรรมการสาขาพรรคตัวแทนพรรคประจำจังหวัดหรืออนุกรรมการในคณะต่างๆหรือกรรมการบริหารพรรคตลอดจนที่ปรึกษาพรรคการเมือง

(๔) อื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป

ข้อ ๕๓ สมาชิกพรรคมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ร่วมรับผิดชอบต่อเสถียรภาพของพรรคและให้ความร่วมมือในกิจกรรมของพรรคด้วยจิตสำนึกในอุดมคติของพรรคในฐานะเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน

 (๒) สนับสนุนสมาชิกพรรคผู้ที่พรรคได้พิจารณาส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของพรรคด้วยความเต็มใจและบริสุทธิ์ใจเพื่อความก้าวหน้าของพรรค

(๓) ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของพรรคอย่างเคร่งครัดให้การสนับสนุนนโยบายและมติของพรรคอย่างจริงจัง

(๔) ร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคด้วยความเต็มใจและเต็มความสามารถ

ข้อ ๕๔ หน้าที่และความรับผิดชอบของพรรคต่อสมาชิกพรรคมีดังนี้

(๑)ดำเนินการทางการเมืองอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้พรรคได้ก้าวไปสู่การมีบทบาท

ทางการเมืองและเข้าสู่การบริหารประเทศตามนโยบายของพรรคเพื่อบรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์

(๒) ส่งเสริมสถานภาพของสมาชิกให้มีสมรรถภาพต่อการดำรงชีวิตของตนเอง

และครอบครัวและจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อสมานสามัคคีระหว่างมวลสมาชิกทั่วประเทศ

(๓) ให้สวัสดิการคุ้มครองจากอิทธิพลอำนาจมืดและส่งเสริมอาชีพให้กับมวลสมาชิก

(๔) ให้ความสำคัญแก่มวลสมาชิกพรรคทุกท่านอย่างเต็มรูปแบบโดยให้ถือว่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นบุคคลสำคัญและเป็นองค์กรหลักของพรรค

-๒๗-

หมวด ๗

มาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง

ส่วนที่ ๑

มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์

ข้อ ๕๕ ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อ ๕๖ ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เอกราชอธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ข้อ ๕๗ ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

ข้อ ๕๘ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่นหรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ ๕๙ ต้องไม่ขอไม่เรียกไม่รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

ข้อ ๖๐ ต้องไม่รับของขวัญของกำนัลทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยาและการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับให้รับได้

ส่วนที่ ๒

มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก

ข้อ ๖๑ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อ ๖๒ ยึดมั่นหลักนิติธรรมและประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน

ข้อ ๖๓ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมเป็นอิสระเป็นกลางและปราศจากอคติโดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพลกระแสสังคมหรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งนี้ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ

ข้อ ๖๔ รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุมการพิจารณาวินิจฉัยรวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุมฝ่ายข้างมากและเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด

ข้อ ๖๕ ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตนถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน

ข้อ ๖๖ ไม่ให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอกหรือแสดงความคิดเห็นหรือข้อมูลต่อสื่อสาธารณะหรือสาธารณชนในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมแก่การปฏิบัติหน้าที่เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กร

ข้อ ๖๗ ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

ข้อ ๖๘ ไม่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแลหรือความรับผิดชอบของตนเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากคู่กรณีหรือจากบุคคลอื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ข้อ ๖๙ ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณีผู้ประพฤติผิดกฎหมายผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

-๒๘-

ข้อ ๗๐ ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศจนเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำต้องยอมรับในการกระทำนั้นไม่นำความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพลครอบงำให้ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด

ส่วนที่ ๓

จริยธรรมทั่วไป

ข้อ ๗๑ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถและยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมโปร่งใสและตรวจสอบได้และปฏิบัติตามกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ข้อ ๗๒ ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของพรรคอย่างประหยัดคุ้มค่าโดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

ข้อ ๗๓ รักษาความลับของพรรคและระเบียบแบบแผนของพรรค

ข้อ ๗๔ ดำเนินการอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบและระบบคุณธรรมรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ส่วนที่ ๔

การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

ข้อ ๗๕ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในส่วนที่๑ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง     การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในส่วนที่๒และส่วนที่๓จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติเจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น

ข้อ ๗๖ การดำเนินการแก่บุคคลใดว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น

หมวด ๘

หลักเกณฑ์และการคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อและการคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนที่๑

คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ข้อ ๗๗ เมื่อมีกรณีต้องสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคต้องจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร     รับเลือกตั้ง

ข้อ ๗๘ ให้มีกรรมการคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งมีจำนวนอย่างน้อย ๑๑ คน ประกอบด้วย

(๑) กรรมการบริหารพรรคจำนวนอย่างน้อย ๔ คน

(๒) หัวหน้าสาขาพรรคซึ่งมาจากภาคละ๑สาขา

(๓) ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจำนวนอย่างน้อย ๓ คน

ข้อ ๗๙ ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ใช้บังคับหากพรรคยังมีสาขาไม่ครบภาคละ ๑ สาขาให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามข้อ ๗๘ ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค

-๒๙-

จำนวน ๔ คน หัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดซึ่งเลือกกันเองจำนวน๗คนในกรณีที่มีหัวหน้า
สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดรวมกันไม่ถึง ๗ คน ให้เลือกตัวแทนสมาชิกพรรคการเมืองให้ได้จำนวนที่ยังขาดอยู่จนครบจำนวน ๗ คน

ข้อ ๘๐ การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ดำเนินการในที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองโดยการลงคะแนนลับ

ส่วนที่ ๒

หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกพรรคเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก

สภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

ข้อ ๘๑ เมื่อพรรคประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น       การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดให้พรรคส่งผู้สมัคร    รับเลือกตั้งจากผู้ซึ่งได้รับเลือกจากสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ข้อ ๘๒ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการสรรหากำหนดวันเวลาและสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งและประกาศให้สมาชิกพรรคทราบเป็นการทั่วไป

(๒) เมื่อพ้นกำหนดเวลารับสมัครตาม (๑) ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งแล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น

(๓) เมื่อสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัครจากคณะกรรมการสรรหาแล้วให้หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจัดการประชุมสมาชิกพรรคเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา

(๔) การประชุมสาขาพรรคต้องมีสมาชิกพรรคมาประชุมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า ๕๐ คน โดยในการลงคะแนนให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้ ๑ คน และเมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้วให้นับคะแนนและประกาศผลการนับคะแนนของสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นแล้วรายงานรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนลำดับสูงสุดสองลำดับแรกให้คณะกรรมการสรรหาโดยเร็วในกรณีที่มีผู้มีคะแนนเท่ากันมากกว่าจำนวนดังกล่าวให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการจัดเรียงลำดับ

(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยพิจารณาจากผู้มีคะแนนสูงสุดของแต่ละเขตเลือกตั้งหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดส่งมาทั้งหมดให้คณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการสรรหาประชุมร่วมกันหากที่ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครผู้ใดให้เสนอรายชื่อผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ถ้าที่ประชุมร่วมกันมีมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครที่สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดส่งมาทั้งหมดให้คณะกรรมการสรรหาแจ้งเหตุผลให้หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นทราบและให้ดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) จนกว่าจะได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น

-๓๐-

ส่วนที่ ๓

หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกพรรคเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

ข้อ ๘๓ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคจัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อส่งให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดโดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆและความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย

ข้อ ๘๔ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้

(๑)ให้คณะกรรมการสรรหากำหนดวันเวลาและสถานที่ในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับ

เลือกตั้งและมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคหัวหน้าสาขาพรรคตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป

(๒) เมื่อพ้นกำหนดเวลาเสนอรายชื่อจากกรรมการบริหารพรรคหัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดตาม (๑) ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน ๑๕๐รายชื่อ โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆและความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงแล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปยังสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

(๓) ให้หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจัดการประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อตาม (๒) โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน ๑๕ รายชื่อ โดยการประชุมสาขาพรรคต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า ๕๐ คน เมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้วให้หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดประกาศผลการนับคะแนนของสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดนั้นแล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาโดยเร็ว

(๔) ให้คณะกรรมการสรรหาจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยเรียงลำดับตามผลรวมของคะแนนที่ได้รับจากสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดตาม (๓) ในกรณีที่หัวหน้าพรรคประสงค์จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้หัวหน้าพรรคอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งลำดับที่หนึ่งและให้เรียงลำดับรายชื่อตามผลคะแนนดังกล่าวในลำดับถัดไปจนครบจำนวนในกรณีที่คะแนนของบุคคลตามบัญชีรายชื่อเท่ากันให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการจัดเรียงลำดับ

(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบให้ดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) จนกว่าจะได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกรณีที่สมาชิกผู้ใดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ยังมิได้มีการจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นเป็นสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งของสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งใกล้เคียงตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด

ส่วนที่ ๔

ข้อยกเว้นในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ข้อ ๘๕ ในการเลือกตั้งทั่วไปการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อให้ดำเนินการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดในข้อ ๘๒ และข้อ ๘๔ เว้นแต่กรณีที่เป็นการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแทนการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะหรือการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งหรือกรณีผู้สมัครตายก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งและคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้พิจารณาร่วมกัน

-๓๑-

ส่วนที่ ๕

การคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ข้อ ๘๖ การคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   แบบบัญชีรายชื่อมาใช้บังคับโดยอนุโลมพรรคจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

ข้อ ๘๗ การเสนอชื่อบุคคลตามข้อ๘๖ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

(๒) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (๑) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น

การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น

หมวด ๙

หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้อ ๘๘ การคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมาบังคับใช้โดยอนุโลมการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามข้อ ๘๗ (๑) และ (๒) ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น

          กรณีที่จะมีการแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พรรคประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไปเพื่อเชิญชวนให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรคการเมือง เสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม จากรายชื่อบุคคลที่กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกพรรคการเมือง เสนอมาเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หมวด ๑๐

การบริหารการเงินและทรัพย์สินและการจัดทำบัญชีของพรรคสาขาพรรค

และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ข้อ ๘๙ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่บริหารการเงินทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดของพรรคและสาขาพรรคตลอดจนจัดให้มีการทำบัญชีให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ให้หัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจัดให้มีบัญชีรับและจ่ายเงินของสาขาพรรคหรือที่ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้รับหรือจ่ายโดยบันทึกบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่รายการนั้นเกิดขึ้นและสรุปรายงานให้พรรคทราบเป็นประจำทุกสิ้นเดือนและปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานสาขาพรรคหรือที่ทำการตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ให้หัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจัดให้มีการทำบัญชีรายชื่อพร้อมที่อยู่ของสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขาพรรคหรือในเขตจังหวัดที่ตนเป็นตัวแทนและ      ปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานสาขาพรรคหรือที่ทำการตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

-๓๒-

ข้อ ๙๐ การลงรายการบัญชีของพรรคต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่ถูกต้องครบถ้วนโดยต้องจัดทำภายในระยะเวลาดังนี้

(๑)การลงบัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายและบัญชีแสดง

รายรับจากการบริจาคต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน๑๕วันนับแต่รายการนั้นเกิดขึ้น

(๒) บัญชีแยกประเภทและบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่รายการนั้นเกิดขึ้น

หมวด ๑๑

รายได้ของพรรคการเมืองและอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง

ข้อ ๙๑ พรรคอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) เงินทุนประเดิมของพรรค

 (๒) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค

(๓) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรค

(๔) เงินทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรค

(๕) เงินทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค

(๖) เงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

(๗) ดอกผลของเงินและรายได้จากทรัพย์สินของพรรค

ส่วนที่ ๑

การหารายได้จากการจำหน่ายสินค้า

 ข้อ ๙๒ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการต้องไม่มุ่งแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกันในทางธุรกิจโดยราคาหรือค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าหรือการให้บริการจะต้องคำนึงถึงราคาตามปกติในท้องที่นั้น

ข้อ ๙๓ สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการได้แก่ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคที่ตั้งสำนักงานสาขาพรรคบริเวณสถานที่จัดกิจกรรมระดมทุนบริเวณสถานที่จัดประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคสาขาพรรคหรือสถานที่ทำการตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ข้อ ๙๔ เมื่อพรรคดำเนินการจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้หัวหน้าพรรคจัดทำทะเบียนสินค้าหรือบริการซึ่งประกอบด้วยรายการจำนวนเงินมูลค่าของสินค้าหรืออัตราค่าบริการแต่ละประเภทให้ครบถ้วนและถูกต้อง

ข้อ ๙๕ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้บันทึกบัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและให้แสดงในงบการเงินประจำปีของพรรคให้ครบถ้วนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อ ๙๖ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการต้องไม่กระทำในช่วง๙๐วันก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรและต้องไม่กระทำในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนที่ ๒

การจัดกิจกรรมระดมทุน

ข้อ ๙๗ การจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคต้องกระทำโดยเปิดเผยและแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน

-๓๓-

ข้อ ๙๘ สถานที่จัดกิจกรรมระดมทุนได้แก่ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคที่ตั้งสำนักงานสาขาพรรคบริเวณสถานที่จัดประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคสาขาพรรคสถานที่ทำการตัวแทนพรรคประจำจังหวัดหรือสถานที่    ที่พรรคเห็นสมควร

ข้อ ๙๙ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่จัดกิจกรรมระดมทุนสิ้นสุดลงให้หัวหน้าพรรคจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมระดมทุนและจำนวนเงินที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมระดมทุนและให้หัวหน้าพรรคประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปพร้อมทั้งแจ้งให้นายทะเบียนทราบด้วย

ข้อ ๑๐๐ การจัดกิจกรรมระดมทุนให้บันทึกบัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและนำไปแสดงใน    งบการเงินประจำปีของพรรคให้ครบถ้วนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อ ๑๐๑ การจัดกิจกรรมระดมทุนต้องไม่กระทำในช่วง๙๐วันก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรและต้องไม่กระทำในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนที่ ๓

การรับบริจาคของพรรคการเมือง

ข้อ ๑๐๒ ให้หัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรคเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีในนามของพรรคและให้หัวหน้าพรรคแจ้งหมายเลขบัญชีของบัญชีเงินฝากและจำนวนเงินที่เปิดบัญชีของ     ทุกบัญชีให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน๗วันนับแต่วันที่เปิดบัญชีดังกล่าว

ข้อ ๑๐๓ กรณีรับบริจาคเป็นเงินสดให้หัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรคนำเงินฝากไว้ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ตามข้อ ๑๐๔ ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับบริจาคหากการรับบริจาคเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คจะต้องไม่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจึงถือได้ว่าเป็นการบริจาคแก่พรรค

ข้อ ๑๐๔ เมื่อมีการบริจาคให้ผู้รับบริจาคจัดทำบันทึกการรับบริจาคให้แล้วเสร็จภายใน ๓ วัน นับแต่วันที่ได้รับบริจาคและให้จัดส่งบันทึกการรับบริจาคพร้อมเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคภายใน     ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับบริจาคถ้าหากทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมิอาจนำส่งแก่พรรคได้ให้ผู้รับบริจาคแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาคนั้นให้พรรคทราบ

ข้อ ๑๐๕ เมื่อพรรคได้รับหลักฐานตามข้อ ๑๐๔ ให้ออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดภายในวันที่ได้รับบริจาคแล้วจัดส่งใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับบริจาคให้แก่ผู้บริจาคภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ออกหลักฐานนั้น

ข้อ ๑๐๖ ให้พรรคบันทึกการรับบริจาคไว้ในบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคของพรรคให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เกิดรายการโดยอย่างน้อยต้องมีรายการดังนี้

 (๑) ชื่อที่อยู่ของพรรค

(๒) ชื่อตัวชื่อสกุลและที่อยู่ของผู้บริจาค

(๓) ชื่อตัวชื่อสกุลและตำแหน่งผู้รับบริจาค

(๔) วันเดือนปีที่รับบริจาค

(๕) รายละเอียดการรับบริจาค

(๖) จำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด

(๗) เอกสารอ้างอิง

(๘) ลายมือชื่อหัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรค

-๓๔-

ข้อ ๑๐๗ ให้หัวหน้าพรรคประกาศบัญชีรายชื่อผู้บริจาคจำนวนเงินรายการทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับบริจาคที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการบริจาคเพื่อให้ประชาชนทราบเป็นประจำทุกสิ้นเดือนแล้วแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ประกาศการตีราคาทรัพย์สินหรือการประเมินมูลค่าประโยชน์อื่นใดที่ได้รับบริจาคให้คำนวณราคาทรัพย์สินอัตราค่าเช่าค่าตอบแทนหรือค่าของสิทธิที่รับตามปกติทางการค้าในท้องที่นั้น

ข้อ ๑๐๘ พรรคจะรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งมีมูลค่ารวมกันต่อบุคคลเกิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลการบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท          ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้วพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้

ส่วนที่ ๔

อัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค

ข้อ ๑๐๙ ค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกมีดังนี้

(๑) สมาชิกแบบตลอดชีพชำระในคราวเดียวไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ บาท

(๒) สมาชิกรายปีชำระในปีแรกจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ บาท และในปีถัดไปปีละไม่น้อยกว่า ๑๐๐ บาท

หมวด ๑๒

การเลิกพรรคสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

ข้อ ๑๑๐ การเลิกพรรคสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารพรรคหรือตามกฎหมายดังนี้

(๑) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม หรือไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา๓๓ (๑) หรือ (๒) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

(๒) ภายหลังจากการที่ได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงตามที่กำหนดในมาตรา ๓๓ (๑) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ติดต่อกันเกิน ๙๐ วัน

(๓) ภายหลังจากที่ดำเนินการครบตามมาตรา ๓๓ (๒) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองเหลือไม่ถึงภาคละ ๑ สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน ๑ ปี

(๔) ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกัน ๑ ปี โดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย

(๕) ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไป ๒ ครั้ง ติดต่อกันหรือเป็นเวลา ๘ ปี ติดต่อกันสุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน

(๖) มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

(๗) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๑ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

(๘) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๒ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ   ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

-๓๕-

ข้อ ๑๑๑ ในกรณีที่พรรคต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองหรือยุบพรรคการเมืองให้ทรัพย์สินของพรรคที่เหลือภายหลังจากการชำระบัญชีแล้วตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

————————————–

#ประชาชนประชาชาติ