
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี เขต 5 พรรคประชาชาติ ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 6 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ในวาระรับทราบรายงานประจำปี 2565 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมขอเริ่มต้นการรับทราบรายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วย 2 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมการศึกษาของเรา คือ เหตุการณ์ที่ 1 นักเรียนหญิงอายุ 14 ปี ผูกคอตายที่จังหวัดสงขลา เพราะโดนครูห้ามเข้าเรียน เนื่องจากเป็นเด็กยากจน ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และ เหตุการณ์ที่ 2 นายไพบูลย์ (ขออนุญาตสงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี และ ด.ญ.ข้าว อายุ 10 ปี ลูกสาว นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.สาวเอ้ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ผูกคอตายติดกับตัวบ้าน เหตุเกิดจากความยากจน พ่อไม่มีเงินจะให้ลูกไปโรงเรียน ถึงขั้นต้องรื้อสังกะสีหลังคาบ้านไปขาย ในที่สุดตัดสินใจผูกคอตาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 เมื่อ 6 วันที่แล้ว
คำถามแรกฝากถึง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่า เราจะยินดีกับความสำเร็จในเล่มรายงานของ กสศ. ในขณะที่ในสังคมเรามีเด็กผูกคอตายทุกปีเพราะไม่มีเงินเรียนได้หรือครับ ?
ตามที่ มาตรา 54 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 5 วรรค(4) รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัด และมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ ซี่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าจะต้องดูแลถึงอายุเท่าไหร่

ในหมวดมาตรา 54 กำหนดไว้ว่าให้รัฐจัดกองทุน ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนคุณทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และใน วรรค (5) รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา เพื่อให้มีการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถรู้และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน
แต่จนถึงปัจจุบัน ผู้ยากไร้ในระดับชั้นปริญญาตรีหรืออุดมศึกษา ยังไม่มีกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้เลย กองทุนเพื่อความเสมอภาคฯ (กสศ.) ก็ดูแลเฉพาะผู้ที่ศึกษาในระดับไม่เกินชั้น ม.6 ที่เป็นการสนับสนุนให้เรียนฟรีอยู่แล้ว
แม้ว่า รัฐบาลจะมี “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” ที่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์แบบให้เปล่า กลับไม่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะต้องเลื่อนชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจผ่านการเรียนในระดับอุดมศึกษา แต่นำไปช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เรียนฟรี (แม้ว่าจะฟรีไม่จริงในทางปฏิบัติ) และใช้ข้ออ้างว่า แบ่งหน้าที่กับกองทุน กยศ. แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

นอกจากนั้น ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เรียนเพราะภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เรียนเพราะไม่มีข้าวกิน ไม่ได้เรียนเพราะไม่ชุดนักเรียนใส่ ไม่ได้เรียนเพราะต้องดูแลพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องออกมาทำงานหากิน และท้ายสุดไม่ได้เรียน เพราะไม่มีเงินค่าสมัครสอบ
ปัจจุบันคนจนที่สุดจำนวน 10% ของประเทศ มีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัยเพียงแค่ 5% (ข้อมูลจาก กสศ. )
จากเหตุนี้ จึงควรยุบรวมกองทุน กยศ. และ กองทุน กสศ. เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาของไทยได้อย่างแท้จริง และเพิ่มขอบเขตการศึกษาของคนยากจน และคนทุกคนให้อยู่ในระดับที่ตนพึ่งพอใจ ซึ่งรัฐต้องควรดูแลอย่างแท้จริงมากกว่า 12 ปี รัฐต้องเป็นพ่อแม่ที่ให้โอกาสลูกได้เรียน ให้โอกาสลูกได้พัฒนา สนับสนุนและให้โอกาสลูกมีสังคมแห่งการเรียนรู้
สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกทำสังคมให้ดีขึ้น มีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาชญากรรมลดลง อันนี้เป็นผลดีที่จะตอบกลับมาสู่สังคมรัฐเองไม่ใช่หรือครับ ?

ประเด็นสุดท้าย คือ รัฐควรขยายสัดส่วนกลุ่มผู้รับประโยชน์ครอบคลุมนักศึกษาทุกระดับให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง กสศ. ควรขยายครอบคลุมนักเรียนในสถาบันปอเนาะ (โรงเรียนบูรณาการ) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนอย่างตาดีกาด้วย เพราะมาตรา 54 กำหนดไว้ว่าให้รัฐจัดกองทุน ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนคุณทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และใน วรรค (5) รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา เพื่อให้มีการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถรู้และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน เด็กทุกคนจะต้องมีสิทธิที่จะเลือกเรียนตามความถนัดของตน โดยรัฐไม่ควรจะไปกำหนดให้เขาต้องเรียนตามรัฐเท่านั้นครับ
#ประชาชนประชาชาติ